ขณะที่กรมที่ดิน งัดโมเดลศูนย์ราชการ แจ้งวัฒนะเป็นต้นแบบ เล็งเริ่มต้นหัวหิน อ้อมอ่าวไทยไปพัทยา
จากกรณีที่รัฐบาลได้ประกาศผ่านรัฐสภา ให้โครงการถมทะเล สร้างเมืองใหม่ เป็นนโยบายเร่งด่วนที่ต้องทำในสมัยรัฐบาลนี้ โดยทุ่มงบประมาณมูลค่ากว่า 1.8 ล้านล้านบาทในการดำเนินการ เพื่อพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางธุรกิจ ที่อยู่อาศัย รีสอร์ต มารีน่า และรถไฟความเร็วสูง
รวมไปถึงเป็นแนวกันน้ำท่วมและ แก้ไขปัญหาน้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่ง เพื่อลดการกัดเซาะให้ลดน้อยลง ทั้งนี้แม้โครงการจะถูกคัดค้านอย่างหนัก แต่น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และรัฐบาลเพื่อไทย ก็ยังพยายามพลักดันให้นโยบายดังกล่าวเดินหน้าอยู่นั้น
นายบุญเชิด คิดเห็น อธิบดีกรมที่ดิน ได้ออกมากล่าวถึงความคืบหน้าของโครงการว่า ขณะนี้ขั้นตอนโครงการอยู่ระหว่างการยกร่างพระราชบัญญัติฉบับใหม่เกี่ยวกับ เรื่องดังกล่าว ซึ่งเบื้องต้นร่างพระราชบัญญัติได้ผ่านการพิจารณาของคณะทำงานยกร่างฯ แล้ว เตรียมจะเสนอกระทรวงมหาดไทย และคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเร็วๆ นี้
โดยการยกร่างพระราชบัญญัติฉบับใหม่นั้น ได้มีการเสนอให้จัดตั้งเป็นนิติบุคคลเฉพาะกิจ (Special Purpose Vehicle : SPV) ใช้ชื่อว่า บริษัท บริหารจัดการและพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ไทย จำกัด เป็นผู้ดำเนินงานในการจัดการโครงการ ให้มีรูปแบบเหมือนบริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด ที่คอยผลักดันนโยบายด้านเศรษฐกิจและการบริหารจัดการที่ดินของรัฐ ทั้งแปรสภาพแหล่งน้ำ และถมทะเล
ส่วนแนวทางในการดำเนินการนั้น ให้นำการก่อสร้างศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติถนนแจ้งวัฒนะเป็นต้นแบบ เพื่อความคล่องตัวในการดำเนินการและการบริหารจัดการทางด้านการเงินและการ ระดมทุน โดยจะแบ่งการพัฒนาเป็นเฟส ๆ ตามความเหมาะสม
สำหรับพื้นที่ที่จะถมทะเลนั้น มีหลายตัวเลือก อาทิ สมุทรปราการ สมุทรสาคร เพชรบุรี และชลบุรี เบื้องต้นได้คัดเลือกพื้นที่เป็น 2 แนวทางคือ
1.ก่อสร้างเขื่อนกั้นน้ำบริเวณริมฝั่งทะเล จุดเริ่มต้นโครงการอยู่ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ แล้วอ้อมทะเลอ่าวไทยไปเมืองพัทยา
2.ก่อสร้างลึกเข้าไปในทะเล ห่างจากชายฝั่งทะเล 15-16 กิโลเมตร ตามแนวสันทราย จากชายฝั่งทะเลในพื้นที่ จ.เพชรบุรี ไปถึงฝั่งทะเลด้าน จ.ชลบุรี รูปแบบจะเป็นถนนขนาด 4-6 เลน ตลอดทางจะมีประตูน้ำขนาดใหญ่สำหรับระบายน้ำทะเลเข้าออก และจะมีการถมทะเลพัฒนาเชิงพาณิชย์
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นการดำเนินการโครงการก็ต้องขึ้นอยู่กับหลักวิชาการ และให้ความสำคัญกับผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อมเป็นพิเศษ ขณะเดียวกันก็ต้องพิจารณาถึงความเหมาะสมและคุ้มค่าในเชิงเศรษฐกิจด้วย
ขอบคุณข้อมูลจาก ประชาชาติธุรกิจ