วันที่ 25 ก.พ. 67 ที่ผ่านมา ชมรมผู้เลี้ยงและผู้เพาะพันธุ์นกกรงหัวจุกจังหวัดปัตตานี จัดมหกรรมการแข่งขันนกกรงหัวจุก ศึกชิงแชมป์ จังหวัดปัตตานี ณ สนามกีฬากลางปัตตานี มีประชาชนผู้เลี้ยงนกเข้าร่วมแข่งขันมากกว่า 1,000 ตัว เพื่อสร้าง soft power จากการแข่งขันนกกรงหัวจุกให้นำไปสู่การกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ สร้างความสามัคคีในกลุ่มผู้เลี้ยงนกกรงหัวจุกในปัตตานีและจังหวัดใกล้เคียง โดยมี นายรอมดอน หะยีอาแว ผู้ช่วยเลขาธิการศอ.บต. เป็นประธานเปิดกิจกรรม
นายรอมดอน หะยีอาแว กล่าวว่า ศอ.บต. พร้อมส่งเสริมวิถีชีวิตของประชาชน ตามความเชื่อ อัตลักษณ์และประเพณี การเลี้ยงนกกรงหัวจุกในพื้นที่จชต. เป็นวิถีชีวิตที่ดำเนินมาตั้งแต่อดีต ขณะนี้ ศอ.บต. ร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เดินหน้าผลักดันการถอดบัญชีนกปรอดหัวโขน (นกกรงหัวจุก) ออกจากบัญชีรายชื่อสัตว์ป่าคุ้มครอง ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 มาตรา 17 ให้เป็นสัตว์ป่าชนิดที่เพาะพันธุ์ได้ตามพระราชบัญญัติการเพาะพันธุ์สัตว์ป่า พร้อมจัดตั้งอนุกรมคณะกรรมการฯ เพื่อดำเนินการปลดล็อค เมื่อมีข่าวดีจะสามารถสร้างรอยยิ้มแก่ชาวบ้านในพื้นที่ที่เลี้ยงและหวงแหนนกกรงหัวจุก หมายถึง การสามารถเลี้ยงนกกรงหัวจุกได้อย่างถูกกฎหมาย
นายอับดุลเลาะ สารีมา ประธานชมรมผู้เลี้ยงและผู้เพาะพันธุ์นกกรงหัวจุก จังหวัดปัตตานี ประธานจัดงานฯ กล่าวว่า การเลี้ยงนกกรงหัวจุกเป็นวัฒนธรรมพื้นบ้านและได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย เป็นกีฬาพื้นบ้านที่สร้างความผ่อนคลาย เพลิดเพลิน สามัคคี ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี
“ปัจจุบันศอ.บต. ยังได้ผลักดันนกกรงหัวจุกให้เป็นซอฟท์พาวเวอร์เพื่อขับเคลื่อนสัตว์เศรษฐกิจในพื้นที่ ชมรมผู้เลี้ยงและผู้พาะพันธุ์นกกรงหัวจุกจ.ปัตตานีเห็นความสำคัญของการแข่งขัน โดยมีสมาชิกนำนกเข้าร่วมแข่งขันจำนวนประมาณ 1,000 ตัว เป็นการแข่งขันประเภท 4 ยก 8 ดอก ชิงชัยทั้งหมด 100 รางวัล แบ่งเป็นรางวัลนก 50 รางวัล พร้อมถ้วยเกียรติยศ และรางวัลชิงโชค จำนวน 50 รางวัล”
ด้าน นายวิชัย มาเด็น ประธานชมรมผู้เลี้ยงและเพาะพันธุ์นกกรงหัวจุกสงขลา บอกว่า มีสมาชิกจากจะนะมาร่วมกว่า 100 กรง ซึ่งปัตตานีตั้งเป้าไว้ 500 เลข แต่คนมาร่วมกว่า 1,000 เลข กระแสตอบรับเกินความคาดหมาย ชาวบ้านขายกล้วยได้หมด คนทำกรงก็ขายได้หมด อาหารนกก็ขายดี ในวันนี้มีการแข่งขันนกกรงหัวจุกสนามใหญ่ที่หาดใหญ่และนครศรีธรรมราช ซึ่งคนเต็มทุกสนาม ชิงรางวัลใหญ่ทุกสนาม แสดงว่ามีผู้สนใจเลี้ยงนกกรงหัวจุกเพิ่มขี้นมาก
“ซึ่งมีทั้งชาวมาเลย์และสิงคโปร์ที่เลี้ยงและมาแข่งขัน เป็นสัตว์เศรษฐกิจที่น่าส่งเสริม มีราคาสูงสุดตอนนี้ตัวละ 1.5 ล้านบาท บ้านเราสามารถพัฒนาให้ครบวงจรและรัฐควรสนับสนุนด้วย”
ภายในงาน มีการจำหน่ายอาหารเลี้ยงนก สำหรับเลี้ยงนกกรงหัวจุกทั่วไป อาหารสำหรับวันแข่งขันนกฯ และอาหารนกสำหรับช่วงถ่ายขน พร้อมทั้งยังมีการจำหน่ายกรงนกจากฝีมือของประชาชนในพื้นที่ สื่อถึงอัตลักษณ์ความเป็นอยู่ในการเลี้ยงนกกรงหัวจุกของประชาชนชายแดนใต้ที่มีมาอย่างยาวนาน