ครูลิลลี่ไม่เห็นด้วย แก้ 176 คำทับศัพท์ ชี้ ทำให้เด็กเกิดความสับสน

ผู้ที่เห็นด้วยมองว่าการเปลี่ยนแปลงอาจช่วยให้เด็กอ่านศัพท์ได้ง่ายขึ้น

ว็บไซต์มติชนรายงานว่า  จากกรณีที่กองศิลปกรรม   ได้จัดทำแบบสำรวจ ความคิดเห็นประมาณ 300 ชุด   เกี่ยวกับการเขียนคำยืมจาก  ภาษาอังกฤษในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน   พ.ศ.2542 เพื่อสอบถามความเห็นจากคณะกรรมการราชบัณฑิต ภาคีสมาชิก และผู้ที่เกี่ยวข้องในการเปลี่ยนแปลงการเขียนคำที่ยืมจากภาษาอังกฤษใหม่ เนื่องจากพบว่ามีคำศัพท์ที่ยืมมาจากคำภาษาอังกฤษ 176 คำ เขียนผิด และไม่ตรงกับเสียงวรรณยุกต์ของคำนั้นๆ ตามอักขรวิธีไทย และการอ่านออกเสียง ได้มีกระแสสะท้อนความคิดเห็นจากนักวิชาการและครูผู้สอน ทั้งจากฝ่าย ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ซึ่งเกรงว่าจะทำให้เกิดความสับสนมากขึ้นกว่าเดิม

นายกิจมาโนจญ์ โรจนทรัพย์ หรือครูลิลลี่ ครูวิชาภาษาไทยสถาบันกวดวิชาชื่อดัง ได้แสดงความคิดเห็นไม่เห็นด้วยกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว เพราะอาจทำให้เด็กเกิดความสับสนมากยิ่งขึ้น แม้ว่าคำยืมจากภาษาอังกฤษในปัจจุบันจะยังออกเสียงไม่ตรงวรรณยุกต์แต่เห็นว่า ไม่จำเป็น เพราะทุกคนทราบดีว่าคำเหล่านั้นต้องออกเสียงยังไง

ในฐานะเป็นครูภาษาไทย คิดว่าวิธีการดีที่สุดควรจะสอนให้เด็กอ่าน ออกเสียงให้ถูกต้องว่า ถ้าอ่านออกเสียงแบบนี้เป็นการออกเสียงตามแบบภาษาอังกฤษ และ แบบนี้คือการออกเสียงแบบภาษาไทย เพื่อให้เด็กมีความเข้าใจถูกต้อง

ส่วนกรณีกังวลว่าชาวต่างชาติที่มาเรียนภาษาไทยแล้วจะสับสนว่าศัพท์บางตัว ไม่มีวรรณยุกต์นั้น ครูลิลลี่แสดงความเห็นว่า ควรจะมองคนในชาติเป็นหลักมากกว่าจะไปห่วงชาวต่างชาติ เพราะเวลาคนไทยไปเรียนภาษาต่างประเทศก็ต้องปรับตัวให้เข้ากับเจ้าของภาษาเช่นกัน

เช่นเดียวกับนายบุญส่ง อุษณรัสมี อนุกรรมการประเมินผลงานครูวิชาภาษาไทย สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และอดีตครูเชี่ยวชาญภาษาไทย โรงเรียนสตรีวิทยา 2 กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยเช่นกัน เพราะรูปแบบการเขียนภาษาอังกฤษไม่เหมือนกับภาษาไทย ซึ่งเป็นภาษาที่มีวรรณยุกต์ แต่ภาษาอังกฤษไม่มี ดังนั้นไม่ควรนำการออกเสียงของไทยไปกำหนดรูปแบบการเขียนทับศัพท์ในภาษา อังกฤษ ควรจะคงรูปแบบการเขียนเดิมเอาไว้

ขณะที่ผู้ที่เห็นด้วยก็มีการแสดงความคิด เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงอาจช่วยให้เด็กอ่านศัพท์ได้ง่ายขึ้นและคิดว่าเด็กจะ ไม่เกิดความสับสน นางเบญจลักษณ์ น้ำฟ้า รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า หากราชบัณฑิตมีการเปลี่ยนแปลงคำยืมมาจากในภาษาอังกฤษ เพื่อให้อ่านออกเสียงง่ายขึ้นคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์กับเด็ก ทั้งในการเรียนวิชาภาษาไทย และภาษาอังกฤษ

นางสาววีณา อัครธรรม ผู้อำนวยการ สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สพฐ.กล่าวว่า ในมิติของ สพฐ.ซึ่งเป็นส่วนราชการ หากราชบัณฑิตเปลี่ยนแปลงคำศัพท์อะไรก็คงต้องใช้ตาม เชื่อว่าคงไม่เกิดความสับสน หากมีการชี้แจงให้รอบด้าน และเท่าที่ทราบเป็นการเปลี่ยนแปลงการเขียนคำที่นำมาจากต่างประเทศ ให้ชัดเจนขึ้นระหว่างภาษาอ่านกับภาษาเขียน ส่วนตัวแล้วเห็นด้วยเป็นเรื่องดี ไม่ใช่เรื่องเสียหาย

นายสมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เห็นด้วย เป็นเรื่องที่น่าทำ เพราะจะทำให้ภาษามี วิวัฒนาการร่วมสมัยมากขึ้น และที่สำคัญทำให้ช่องว่างเรื่องภาษาลดลง เป็นประโยชน์กับนักเรียนในการสะกดคำให้ตรงตัวมากขึ้น ซึ่งทางราชบัณฑิตฯเองจะต้องทำประชา สัมพันธ์เกี่ยวกับศัพท์ใหม่ผ่านช่องทางต่าง ๆ หรืออาจเชิญนักเรียนมาร่วมพูดคุยรับฟังความคิดเห็นเพื่อให้เด็กๆ ได้เข้ามามีส่วนร่วม

ขอบคุณข้อมูลจาก มติชนออนไลน์

ครูลิลลี่คำทับศัพท์คำศัพท์ราชบัณฑิตยสถาน