อีสานโพลเผยคนอีสานให้คะแนนนิยมก้าวไกลมากขึ้น ขณะที่เพื่อไทยลดฮวบ พร้อมระบุเศรษฐกิจอีสานไตรมาสของปียังแย่อย่างต่อเนื่องวอนรัฐแก้ไขด่วน

เมื่อเวลา 11.00 น.วันที่ 5 เม.ย. 2567 รศ. ดร.สุทิน เวียนวิวัฒน์ หัวหน้าโครงการอีสานโพล ศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น หรือ มข. เปิดเผยว่า จากการสำรวจความคิดเห็นของคนอีสานต่อภาวะเศรษฐกิจระดับครัวเรือน เพื่อประเมินภาวะเศรษฐกิจครัวเรือนด้านต่างๆ และคำนวณดัชนีภาวะเศรษฐกิจอีสานในไตรมาส 1/2567 และคาดการณ์ไตรมาส 2/2567 พร้อมประเมินผลงานรัฐบาลด้านเศรษฐกิจและภาพรวม และมีคำถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับปัญหาที่คนอีสานต้องการให้รัฐบาลเร่งทำให้เห็นผลโดยเร็ว ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 29มี.ค. – 1 เม.ย. จากกลุ่มตัวอย่างอายุ 18 ปีขึ้นไป 1,100 รายในเขตพื้นที่ภาคอีสาน 20 จังหวัด โดยภาวะเศรษฐกิจไตรมาส 1/2567 (ม.ค. – มี.ค. 67) เท่ากับ 32.3 เต็ม 100 อยู่ในระดับแย่ แย่ลงเล็กน้อยจากไตรมาสก่อนซึ่งมีค่า 32.8

ขณะที่มาตรการด้านเศรษฐกิจใหม่ๆ ใหญ่ๆ ยังไม่มีผลเป็นรูปธรรม ส่งผลให้คะแนนผลงานรัฐบาลด้านเศรษฐกิจยังคงเท่าเดิมที่ 33.0 และคาดว่าดัชนีภาวะเศรษฐกิจครัวเรือนอีสาน ไตรมาส 2/2567 (เม.ย. – มิ.ย. 67) จะเท่ากับ 31.8 แย่ลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับไตรมาส 1/2567 ขณะที่กลุ่มตัวอย่างต้องการให้รัฐบาลแก้ปัญหาให้เห็นผลโดยเร็ว 7 เรื่องที่เร่งด่วน คือ ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ทำให้เศรษฐกิจคึกคัก แจกเงินดิจิทัล บรรเทาปัญหาหนี้สิน แก้ปัญหายาบ้าระบาด ลดค่าครองชีพ และเพิ่มรายได้ลดต้นทุนภาคเกษตร นอกจากนี้พบว่าคะแนนนิยมพรรคก้าวไกลยังนำพรรคเพื่อไทยในอีสาน”

รศ.ดร.สุทิน กล่าวต่อว่า เมื่อสอบถามเกี่ยวกับ รายได้และทรัพย์สินครัวเรือน โอกาสหางานใหม่หรือเริ่มธุรกิจใหม่ การหมุนเงินเพื่อใช้จ่ายและชำระหนี้ และการซื้อของมูลค่าสูง และทำการประมวลผลได้ดัชนีต่างๆ ซึ่งค่าดัชนีมีค่าระหว่าง 0 – 100 หากดัชนีอยู่ระหว่าง 0 – 19.9 คือ แย่มาก ระหว่าง 20.0 – 39.9 คือ แย่ ระหว่าง40.0 – 59.9 คือ ปานกลาง/พอใช้ ระหว่าง 60.0 – 79.9 คือ ดี และ ระหว่าง 80.0 – 100 คือ

“เมื่อให้กลุ่มตัวอย่างประเมินผลงานรัฐบาลด้านเศรษฐกิจในช่วงไตรมาส 1/2567 พบว่า ได้คะแนน 33.0 เต็ม 100 เท่าเดิมจากไตรมาส 4/2566 ขณะที่ผลงานโดยรวมของรัฐบาลในช่วงไตรมาส 1/2567 ได้คะแนน 32.7 ลดลงเล็กน้อยจากไตรมาส 4/2566 ซึ่งดัชนีเท่ากับ 33.2 ทั้งนี้รัฐบาลเคยได้คะแนนด้านเศรษฐกิจต่ำสุดในช่วงไตรมาส 3 ปี 2564 ซึ่งได้คะแนนนเพียง 20.3 และได้คะแนนผลงานโดยรวมเพียง 19.3 จากการระบาดอย่างหนักของโรคโควิดสายพันธุ์เดลตา และเมื่อสอบถามกลุ่มตัวอย่างเพิ่มเติมว่า อยากให้รัฐบาลเร่งแก้ไขให้เห็นผลเร็วมากที่สุด พบว่า จาก 12 เรื่อง มี 7 เรื่องที่ถูกเลือกอย่างมีนัยสำคัญ อันดับหนึ่งร้อยละ 18.5 กลุ่มตัวอย่างต้องการให้ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ อันดับสอง ร้อยละ 17.1 ทำให้เศรษฐกิจคึกคัก อันดับสาม ร้อยละ 15.2 แจกเงินดิจิทัล อันดับสี่ ร้อยละ 11.7 บรรเทาปัญหาหนี้สิน อันดับห้า ร้อยละ 10.8 แก้ปัญหายาบ้าระบาด อันดับหก ร้อยละ 10.6 ลดค่าครองชีพ และอันดับเจ็ด ร้อยละ 7.8 เพิ่มรายได้ลดต้นทุนภาคเกษตร”

รศ.ดร.สุทิน กล่าวในตอนท้ายว่า ในการเลือกตั้ง ส.ส. ที่ผ่านมา ลงคะแนน ส.ส. บัญชีรายชื่อให้พรรคใด และถ้าเลือกตั้ง ส.ส. วันนี้ มีแนวโน้มจะลงคะแนน ส.ส. บัญชีรายชื่อให้พรรคใด พบว่า คะแนนของพรรคก้าวไกล เพิ่มขึ้นจาก ร้อยละ 35.1 เป็น ร้อยละ 47.4 ขณะที่คะแนนของพรรคเพื่อไทยลดลงจาก ร้อยละ 45.7 เหลือ ร้อยละ 40.7 พรรคภูมิใจไทยลดลงจาก ร้อยละ 4.7 เหลือ ร้อยละ 2.4 พรรครวมไทยสร้างชาติลดลงจาก ร้อยละ 5.6 เหลือ ร้อยละ 1.9 ไทยสร้างไทยลดลงจาก ร้อยละ 1.7 เป็นร้อยละ 1.5 พลังประชารัฐลดลงจาก ร้อยละ 1.2 เหลือ ร้อยละ 0.7 ประชาธิปัตย์ลดลงจาก ร้อยละ 1.1 เหลือ ร้อยละ 0.5 เสรีรวมไทยจากร้อยละ 1.1 เหลือ ร้อยละ 0.4 และอื่นๆ ลดลงจากร้อยละ 1.2 เป็น ร้อยละ 0.6 ขณะที่มีผู้ตอบว่ายังไม่มีพรรคที่ถูกใจร้อยละ 3.9