วันนี้ (17 เมษายน 67) ที่ห้องประชุมอูหลง ศาลากลางจังหวัดเชียงราย พ.ต.อ. สิทธิชัย ไกรแสง รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดเชียงราย เป็นประธานการประชุมสรุปผลการดำเนินงานป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ ตั้งแต่วันที่ 11 – 17 เมษายน 2567 ของจังหวัดเชียงราย โดยมี หัวหน้าส่วนราชการ ผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม เพื่อวิเคราะห์สาเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุ และกำหนดแนวทางป้องกันแก้ไขการเกิดอุบัติเหตุ
โดยที่ประชุม สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเชียงราย ได้รายงานสรุปผลการปฏิบัติงานการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน ช่วงเทศกาลสงกรานต์ ของวันที่ 16 เมษายน 2567 ของจังหวัดเชียงราย มีอุบัติเหตุเกิดขึ้น 10 ครั้ง มีผู้บาดเจ็บ (Admit) 10 ราย (เพศชาย 7 ราย หญิง 3 ราย) มีผู้เสียชีวิต 1 ราย เป็นเพศชาย 1 ราย รวมผู้เสียชีวิตช่วงควบคุมเข้มข้น ตั้งแต่วันที่ 11 – 17 เมษายน 2567 ข้อมูล ณ วันที่ 16 เมษายน 67 สะสม 6 วัน จำนวน 15 ราย สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจาก การขับรถเร็วเกินกำหนด ดื่มแล้วขับ ตัดหน้ากระชั้นชิด ประเภทยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุมากที่สุดได้แก่รถจักรยานยนต์ ลักษณะทางที่เกิดอุบัติเหตุเป็นทางตรงและแห้ง มีแสงสว่าง มีโค้งบางส่วน ผู้ประสบเหตุส่วนใหญ่เป็นคนในพื้นที่จังหวัดเชียงราย
สำหรับผลการเรียกตรวจยานพาหนะ ตามมาตรการ “1ร. 2ส. 3ข. 4ม. (10 รสขม)” ของวันที่ 16 เมษายน 2567 พบว่าส่วนใหญ่ไม่สวมหมวกนิรภัย 832 ราย รถจักรยานยนต์ไม่ปลอดภัย 79 ราย ดื่มแล้วขับ 108 ราย ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย 64 ราย และไม่มีใบขับขี่ 806 ราย ขับรถเร็วเกินกำหนด 223 ราย ฝ่าฝืนสัญญาณไฟจราจร 8 ราย ขับย้อนศร 22 ราย แซงในที่คับขัน 8 ราย และใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ในขณะขับรถ 99 ราย
พ.ต.อ.สิทธิชัย ไกรแสง รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดเชียงราย ได้กล่าวว่า ขอบคุณและชื่นชมเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานทุกหน่วยงานที่มีการประสานงานและเสียสละเวลาในช่วงวันหยุดมาเข้าเวรปฏิบัติงานตั้งด่านชุมชน อำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยว และประชาชนในพื้นที่เพื่อลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2567 และได้เน้นย้ำถึงแนวทางมาตรการการดำเนินงานในช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2567 ให้บังคับใช้กฎหมาย อย่างจริงจัง เพื่อควบคุมและลดการเกิดอุบัติเหตุทางถนนในพื้นที่ในเทศกาลสงกรานต์ อุบัติเหตุส่วนใหญ่เกิดตามเขตติดต่ออำเภอเป็นส่วนมาก ขอให้เข้มงวดการใช้รถใช้ถนนในหมู่บ้าน ตรวจตราผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และให้ดำเนินการจัดตั้งด่านชุมชนในพื้นที่ จนสิ้นสุดระยะเวลาที่กำหนด ให้ครอบครัวคอยตักเตือนเวลามีการดื่มสังสรรค์ในครอบครัว คนขับต้องไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (เมาไม่ขับ) รวมถึงประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเจ้าของรถทุกคัน ตระหนักถึงความสำคัญในการจัดทำประกันภัย พ.ร.บ. และรับรู้ถึงหน้าที่และสิทธิประโยชน์ความคุ้มครอง ตามเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัย พ.ร.บ. รณรงค์ให้ประชาชนมีการจัดทำประกันภัย พ.ร.บ. เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนเมื่อเกิดอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นจากรถอีกด้วย