Open House โรงเรียนนวัตกรรมการศึกษาปัตตานี 32 แห่ง

“เป้าหมายเพื่อยกระดับการศึกษา ลดความเหลื่อมล้ำ เรามียุทธศาสตร์ในการพัฒนาจ.ปัตตานื โดยอยากให้เด็กปัตตานีมีคุณภาพตามยุทธศาสตร์จังหวัดคือ สมาร์ทซิตี้ สมาร์ทพีเพิล ใน 5 ด้าน คือ เด็กปัตตานีต้องเรียนรู้ด้วยตัวเองได้ เรียนรู้ได้หลายภาษา ปรับตัวได้ดีในยุคนี้ มีทักษะอาชีพและทักษะด้านนวัตกรรม และเคารพความแตกต่างหลากหลาย ขับเคลื่อนโดยกลไกหลัก มีผู้ใหญ่และนักวิจัยหนุนเสริม ทำมาตั้งแต่ปี 64 ถึงปัจจุบัน เป็นสัญญาณเชิงบวกที่ดี รร.ได้ถ่ายทอด วิจัยติดตาม การเรียนรู้ดีขึ้น มีนวัตกรรมชัดเจน เด็กกล้าแสดงออก มีทักษะอาชีพ เรามาถูกทางแล้ว พรบ.พื้นที่นวัตกรรม มีเวลาอีก 2 ปี ปัตตานีเป็นจังหวัดที่มีความโดดเด่น กล้าทำในสิ่งใหม่ เข้มแข็งทุกหน่วยงาน จาก 32 รร. จะขยายต่อยอดเพิ่มโรงเรียนอีกแน่นอน”

รศ. ดร.อาทิตย์ อินทรสิทธิ์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายหลักสูตรและส่งเสริมการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี บอกถึงผลสัมฤทธิ์ของโครงการนวัตกรรมการศึกษาจังหวัดปัตตานี ระยะที่ 2 (Open House 2567)

คณะศึกษาศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดปัตตานี ร่วมกับภาคีเครือข่ายทางการศึกษา จัดโครงการนวัตกรรมการศึกษาจังหวัดปัตตานี ระยะที่ 2 (Open House 2567) จากทุนวิจัยจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาด้วยนวัตกรรมการบริหารและการจัดการเรียนรู้ และพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้ของโรงเรียนในจังหวัดปัตตานี รวม 32 โรงเรียน เป็นโรงเรียนสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั้ง 3 เขตพื้นที่ จำนวน 16 โรงเรียน สังกัดสำนักงานการศึกษาเอกชน จำนวน 11 โรงเรียน และสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่มัธยมศึกษา จำนวน 3 โรงเรียน เพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์จังหวัดตามแนวคิด Smart City, Smart People บนพื้นฐานแนวคิด SMART+I ณ ห้องน้ำพราวบอลรูม โรงแรม ซี.เอส.ปัตตานี

ดร. สุริยา หมาดทิ้ง ศึกษาธิการจังหวัดปัตตานี กล่าวถึงการจัดโครงการนี้ว่า เป็นกลไกหนึ่งที่ถูกบรรจุอยู่ในแผนการดำเนินการโครงการนวัตกรรมการศึกษาจังหวัดปัตตานี ระยะที่ 2 เพื่อนำเสนอผลลัพธ์การดำเนินงานด้านนวัตกรรมการบริหาร ส่งเสริมให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างเพื่อนครู นักวิชาการ นักวิจัย ผู้เชี่ยวชาญ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทางการศึกษาและภาคีเครือข่าย ที่ร่วมกันพัฒนานวัตกรรมด้านการศึกษาในโรงเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรมจังหวัดปัตตานีทั้ง 32 โรงเรียน

“ช่วยหนุนเสริมให้เกิดการต่อยอดในเชิงนโยบาย ยุทธศาสตร์ และการขยายเครือข่ายการนำนวัตกรรมไปใช้ในเชิงพัฒนา สามารถสร้างนวัตกรรมและความร่วมมือในระดับที่สูงขึ้นต่อไป เป็นไปตามนโยบายของกท.ศึกษาธิการถือเป็นบทบาทหน้าที่รับผิดชอบที่สำคัญ ตลอดระยะเวลาการดำเนินโครงการ ได้มีการเสวนาแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และแนวปฏิบัติเพื่อพัฒนาและต่อยอดนวัตกรรมทางการศึกษาของสถานศึกษา กลไกการพัฒนานวัตกรรมการบริหาร ดังเช่นแนวคิด OKRs กลไกการสร้างนวัตกรรมการจัดการเรียนรู้ หรือกรอบหลักสูตร Pattani Heritage ช่วยขับเคลื่อน ส่งเสริม และสนับสนุนกระบวนการบริหารและการจัดการเรียนรู้ในสถานศึกษาให้มีคุณภาพและเกิดประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น”

รศ.ดร.เอกรินทร์ สังข์ทอง หัวหน้าโครงการวิจัยฯ เปิดเผยถึงความก้าวหน้าการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมทางการศึกษาจังหวัดปัตตานีว่า ปัตตานี ได้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการฯ โดยส่งเสริมการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่และการเชื่อมโยงกับวัฒนธรรมท้องถิ่นผ่านกรอบหลักสูตร Pattani Heritage หนุนให้นักเรียนเรียนรู้จากสภาพจริงของชุมชน การใช้ระบบการบริหารแบบ Objective Key Results (OKRs) ช่วยให้โรงเรียนและหน่วยงานกำหนดเป้าหมายและวัดผลการดำเนินงานได้อย่างชัดเจน เห็นการปรับปรุงและความก้าวหน้าในทิศทางที่ต้องการ เน้นการสร้างการเรียนรู้ที่มีการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในชุมชน

“ผลลัพธ์ที่ได้เห็นว่านักเรียนมีการพัฒนาทักษะสำคัญ เช่น การอ่านออกเขียนได้, การคิดวิเคราะห์, และการทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ดีขึ้น สะท้อนให้เห็นถึงการค่อยๆ เดินเข้าใกล้เป้าหมายที่สำคัญของจังหวัดตามแนวคิด SMART + I เพื่อการเปลี่ยนแปลงในระบบการศึกษาได้อย่างยั่งยืน พึ่งพาการสนับสนุนและความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเพื่อความสำเร็จที่ต่อเนื่องและรอบด้าน เน้นการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและชุมชนเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ที่ตอบสนองต่อความต้องการท้องถิ่น การใช้ข้อมูลและผลลัพธ์จากการวิจัยเป็นฐานในการตัดสินใจ ประเมินและปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง จะช่วยให้การศึกษาในพื้นที่มีประสิทธิภาพและปรับตัวได้ดีตามบริบทที่เปลี่ยนไป”

ด้านนายสนั่น สนธิเมือง รองผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี กล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดงานนวัตกรรมการศึกษาฯ ครั้งนี้ เป็นร่วมมือกันทำงานเพื่อพัฒนาระบบการศึกษาจังหวัดปัตตานีไม่ให้หยุดนิ่ง กระตุ้นคิด ผลักดันเชิงนโยบายและปฏิบัติงาน ร่วมกันจับมือทำงาน ช่วยส่งเสริมทักษะการทำงานให้เกิดแก่บุคลากรทางการศึกษาในพื้นที่ ตอบสนองแก่พระราชบัญญัติพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 พบว่าหน่วยงานทุกภาคส่วนได้สร้างแนวปฏิบัติเพื่อขับเคลื่อนกิจกรรมบรรลุตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งใจหวังไว้ เพื่อพัฒนาผู้เรียนทั้งในมิติองค์ความรู้ สมรรถนะ ทักษะ และเจตคติ