อบจ.เชียงใหม่ ปรับปรุงสวนสาธารณะบนที่ดินของการรถไฟ คืบหน้า เกินกว่า 50 % ขณะที่ชุมชนแขวงกาวิละสนับสนุนให้ อบจ.พัฒนาเป็นสวนสุขภาพ

วันที่ 21 พ.ค.67 ที่บริเวณสวนสาธารณะบนที่ดินการรถไฟแห่งประเทศไทย หน้าสถานีรถไฟเชียงใหม่ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ นายพิชัย เลิศพงศ์อดิศร นายกอบจ.เชียงใหม่,พร้อมด้วย นายสมชาติ วุฒิกล้า รองนายกอบจ.เชียงใหม่ และนายธัชพล นิรัติมัย ปลัด อบจ.เชียงใหม่ และหัวหน้าส่วนราชการได้นำตัวแทนชาวบ้านในชุมชนแขวงกาวิละเดินสำรวจพื้นที่บริเวณที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทยบนเนื้อที่กว่า 62 ไร่

สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 17 พ.ค.67 นายเกรียงไกร ศิวิลัยซ์ สารวัตรแขวงบำรุงทางลำพูน การรถไฟแห่งประเทศไทย ทำหนังสือขอความอนุเคราะห์ อบจ.เชียงใหม่ ให้นำเครื่องจักร และเจ้าหน้าที่ดำเนินการทำความสะอาด เก็บขยะ กวาดเศษใบไม้ กิ่งไม้บริเวณสวนสาธารณะบนที่ดินของการรถไฟที่ถูกทิ้งร้างมานานหลายปี ทาง อบจ.เชียงใหม่ จึงนำเจ้าหน้าที่ พร้อมเครื่องจักรมาทำความสะอาด วันนี้เรียบร้อยไปมากกว่า 50%

นายก อบจ.เชียงใหม่ พาตัวแทนชาวบ้านจากชุมชนกาวิละในพื้นที่เดินดูโดยรอบ ได้กล่าวกับชาวบ้าน ว่า เมื่อทางการรถไฟร้องขอให้ อบจ.ปรับปรุงสวนสาธารณะที่ดินรถไฟแล้ว ส่วนหนึ่งเป็นสวนสุขภาพที่มีอยู่เดิม การรถไฟฯเคยให้เทศบาลนครเชียงใหม่เป็นผู้ดูแล ต่อมาถูกทิ้งร้าง ประกอบกับอยู่ติดกับพื้นที่ทรงงานของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีอีกด้วย

“เมื่อพื้นที่นี้ถูกทิ้งร้างมานาน ฤดูแล้งอาจทำให้เป็นแหล่งเชื้อเพลิงเกิดไฟไหม้ได้ เพื่อเป็นการป้องกัน และแก้ไขปัญหาดังกล่าว รวมถึงเพื่อปรับปรุงภูมิทัศน์ให้สวยงาม เริ่มลงมือตั้งแต่วันที่ 17 พ.ค.67 ที่ผ่านมาแล้ว“

นายพิชัย นายก อบจ.เชียงใหม่ กล่าวอีกว่า อบจ.เชียงใหม่เข้ามาทำตรงนี้ ช่วงนี้เพราะได้รับการร้องขอ ไม่มีจุดมุ่งหมายอื่น แต่จะถามว่า อบจ.เชียงใหม่พร้อมที่จะทำเป็นสวนสาธารณะเหมือนกับพื้นที่ด้านหลังศูนย์ราชการจังหวัดเชียงใหม่ ที่อบจ.เชียงใหม่ได้ทำ MOU กับจังหวัดเชียงใหม่และเข้าไปพัฒนาพื้นที่ด้านหลังศาลากลางมาแล้ว ซึ่งเดิมก็รกร้างเหมือนกัน แต่ก็พัฒนาเป็นทั้งสวนสาธารณะ สถานที่ออกกำลังกาย พัฒนาพื้นที่ให้สะอาด สวยงามได้ และก็อาจจะทำ MOU กับทางการรถไฟต่อไปด้วยในกรณีที่ดินรถไแห่งนี้

“แต่ต้องถามประชาชนชาวเชียงใหม่ หากอยากได้สวนสาธารณะใจกลางเมืองเชียงใหม่ ก็ต้องร้องขอไปที่การรถไฟฯ เบื้องต้น อบจ.เชียงใหม่เข้ามาพัฒนาตามคำร้องขอ ส่วนจะก้าวไปถึงการทำสวนสาธารณะหรือสถานที่ออกกำลังกายด้วยหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับประชาชนชาวเชียงใหม่ร้องขอให้ใครดูแล จะเป็นการรถไฟ หรืออาจจะเป็นเทศบาล หรือจะให้ อบจ.เชียงใหม่ดูแล ก็แล้วแต่ประชาชนอยากให้ใครเข้ามาพัฒนา ตอนนี้ อบจ.เข้ามาเคลียร์พื้นที่ที่เดิมมันรกร้างให้มันดูสะอาดและปลอดภัยขึ้นแล้ว”

นายพิชัย กล่าวอีกว่า อบจ.เชียงใหม่ เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดใหญ่มีงบประมาณเกือบ 2 พันล้านบาทก็จริง แต่ก็ต้องดูแลประชาชน 25 อำเภอ โดยเฉพาะความต้องการของประชาชนในแต่ละพื้นที่ ไม่ได้ทำเฉพาะช่วงใกล้จะครบวาระหรือใกล้จะหมดวาระ ไม่ได้มีความมุ่งหมายทางการเมือง ที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นที่หาดทรายแม่สาบีช แม่สาน้อย อ.แม่ริม ทำหาดทรายให้สวยงาม และที่ อ.สันป่าตอง ก็ทำถนนให้ที่เกินศักยภาพขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ ก็จะร้องขอมาที่ อบจ.ให้เข้าไปดำเนินการ ทาง อบจ.ก็ทำให้เหมือนกับที่ดินและสวนสาธารณะบนที่ดินของการรถไฟฯ เดิมที่เทศบาลนครเชียงใหม่เคยดูแลและถูกปล่อยรกร้าง เรามองว่า มันเป็นเรื่องเร่งด่วน หากปล่อยไว้นานก็รีบเข้ามาดำเนินการใช้เวลาแค่ 4 วันก็จะเห็นว่าหลังจากที่พัฒนาพื้นที่แล้ว ดูสะอาดและปลอดภัยมากขึ้น ถ้าหากจ้างเอกชนมาดำเนินการก็คงจะใช้งบประมาณมากพอควร แต่ อบจ.เชียงใหม่มีเครื่องจักร มีบุคลากร เจ้าหน้าที่พร้อมดำเนินการ และพร้อมที่จะพัฒนาหากได้รับการมอบหมายให้เข้ามาดูแลและพัฒนาพื้นที่นี้ต่อไปในอนาคตด้วย นายก อบจ.เชียงใหม่ กล่าว และชาวบ้านที่มาดูพื้นที่ด้วยนั้น ได้ปรบมือให้ และบอกว่าเห็นควรให้ อบจ.พัฒนาต่อไป.

กาญจนา เกตุทองมา
จังหวัดเชียงใหม่