สพฉ. ถอดบทเรียน สิงคโปร์แอร์ไลน์ ตกหลุมอากาศ เตรียมพัฒนาแผนเผชิญเหตุของสนามบินให้รวดเร็วและมีความพร้อมมากยิ่งขึ้น

วันที่ 29 พ.ค. 67 ที่ห้องประชุมสัตตบงกช สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) จัดเสวนา ถอดบทเรียนสำคัญ การตอบสนองต่อสถานการณ์ฉุกเฉินในสนามบิน กรณีอากาศยานสิงคโปร์แอร์ไลน์เกิดเหตุฉุกเฉิน โดยมีผู้เข้าร่วมเสวนาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ คุณกิตติพงศ์ กิตติขจร ผู้อำนวยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ นพ.พัฒน์พงศ์ ไชยนิคม รอง ผอ.ฝ่ายการแพทย์ บริษัทท่าอากาศยานไทย ร.อ.นพ.ศรันย์ อินทกุล พญ.วิชัญญา บุรีรักษ์ ผู้แทนแพทย์ผู้เผชิญเหตุและสั่งการ พญ.ธัญธร นพเก้ารัตนมณี หน่วยปฎิบัติการอำนวยการ จังหวัดสมุทรปราการ นายปิยะลักษณ์ ถิ่นแก้ว หัวหน้าชุดปฏิบัติการมูลนิธิร่วมกตัญญู เข้าร่วมเสวนาในวันนี้ นับเป็นการถอดบทเรียนครั้งสำคัญจากเหตุการณ์ฉุกเฉินดังกล่าวที่เกิดขึ้น อีกทั้งขั้นตอนการดำเนินการ พร้อมวิธีรับมือแก้ไขปัญหาสถานการณ์ดังกล่าว พร้อมการตอบข้อซักถาม

โดย ร.อ.นพ.อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการ สพฉ. กล่าวว่า การถอดบทเรียนจากเหตุการณ์ เที่ยวบิน SQ321 สิงคโปร์แอร์ไลน์ กรณีเกิดเหตุฉุกเฉินในครั้งนี้จะก่อให้เกิดประโยชน์ แก่ทุก ๆ หน่วยงาน รวมถึงประชาชน และสถานการณ์แบบนี้อาจเกิดขึ้นอีกที่ไหนก็ได้ เนื่องจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง มีแนวโน้มที่จะเกิดเครื่องบินตกหลุมอากาศที่รุนแรงเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่า จึงจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมของระบบการแพทย์ฉุกเฉิน ในส่วน สพฉ. มีหน้าที่ในการขับเคลื่อนระบบการแพทย์ฉุกเฉิน ร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้งหมด และ สพฉ. ได้มีกองทุนการแพทย์ฉุกเฉิน รองรับการให้บริการด้านการแพทย์ฉุกเฉินกับประชาชนทุกคน ไม่ว่าจะเป็น ชาวไทย หรือ ชาวต่างชาติ หากมีภาวะเจ็บป่วยวิกฤติฉุกเฉินในประเทศไทย สามารถได้รับการรักษาและส่งต่ออย่างรวดเร็วเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วย มีสิทธิได้รับการบริการความปลอดภัยในประเทศไทยที่เท่าเทียมกันอย่างทั่วถึง ซึ่งพื้นที่ภายในท่าอากาศยานต่าง ๆ ถือเป็นพื้นที่พิเศษซึ่งมีกฎระเบียบเฉพาะในการดูแลความปลอดภัย แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์เจ็บป่วยฉุกเฉิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหตุการณ์อุบัติภัยหมู่ จำเป็นที่จะต้องมีการวางแผนและการฝึกซ้อมเพื่อให้สามารถให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้อย่างรวดเร็ว

 

นายกิตติพงศ์ กิตติขจร ผอ.การท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เปิดเผยว่า จากเหตุการณ์วันที่เกิดเหตุทางสนามบินได้รับแจ้งจากสายการบินโดยฝ่ายแพทย์ว่าสายการบินสิงคโปร์แอร์ไลน์ เที่ยวบิน SQ321 เกิดอุบัติเหตุตกหลุมอากาศ แผนของทางสนาบินคือมีแผนรองรับทั้งหมด 13 แผน ในวันเหตุการณ์ทางสนามบินได้ใช้แผนบทที่ 3 และมีการประสานศูนย์สั่งการสมุทรปราการ เพื่อให้เตรียมพร้อมรถพยาบาลในการช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินเนื่องจากรถพยาบาลที่เตรียมพร้อมอยู่ในสนามบินอาจไม่เพียงพอรองรับกับเหตุการณ์ดังกล่าว แม้ว่าเหตุการณ์ในวันนั้นการทำงานของทุกฝ่ายจะผ่านพ้นไปด้วยดีแต่จากการร่วมถอดบทเรียนในวันนี้ทำให้พบว่าแผนที่เตรียมไว้กับเหตุการณ์จริงอาจจะไม่ได้เหมือนกันในอนาคต จะต้องมีการประชุมหารือเพื่อปรับปรุงแผนให้ดียิ่งขึ้นในทุก ๆ ด้าน

 

นพ.พัฒน์พงศ์ ไชยนิคม รอง ผอ.ฝ่ายการแพทย์ บริษัทท่าอากาศยานไทย ระบุว่า ต้องขอขอบคุณทุกหน่วยงานที่ให้การสนับสนุนการทำงานในวันนั้น ซึ่งหัวใจสำคัญของการทำงานก็คือ ทุกฝ่ายต้องมีความปลอดภัยและสามารถทำได้ดี อีกเรื่องนึงที่ต้องชื่นชมคือ การทำงานแข่งกับเวลาโดยทีมสามารถช่วยเหลือผู้โดยสารกว่า 200 คน ได้ทันภายในเวลา 2 ชั่วโมง ตั้งแต่การรับแจ้งเหตุจากหอบังคับการบิน การจัดเตรียมพื้นที่ สำหรับคัดแยกผู้บาดเจ็บ พื้นที่การรักษาเบื้องต้น รวมไปถึงการดูแลผู้โดยสารอื่นที่ไม่ได้รับบาดเจ็บ แต่อย่างไรก็ดีตนคาดหวังว่า ในอนาคตจะต้องสามารถปฏิบัติการได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นไปอีก

 

ด้าน พญ.ธัญธร นพเก้ารัตนมณี หน่วยปฏิบัติการอำนวยการจังหวัดสมุทรปราการ กล่าวว่า 1669 ทางหน่วยปฏิบัติการอำนวยการจังหวัดสมุทรปราการของเรามีแผนสำหรับการรับเหตุอุบัติภัยหมู่อยู่แล้วและได้มีการซ้อมแผนดังกล่าวกับทางการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเป็นประจำทุกปี เมื่อไหร่ก็ตามที่การท่าอากาศยานสุวรรณภูมิโทรเข้ามาที่ 1669 ทางหน่วยจะให้โรงพยาบาลรัฐที่อยู่ใกล้ที่สุดนั่นคือ โรงพยาบาลบางพลี และ โรงพยาบาลบางเสาธง ร่วมกับมูลนิธิที่อยู่ในพื้นที่ เตรียมความพร้อมรอไว้ก่อนว่าจะมีเหตุการณ์ฉุกเฉินเกิดขึ้น โดยนำส่งที่จุดรวมพลที่กำหนดไว้ และเมื่อได้รับแจ้งว่ามีผู้บาดเจ็บมากกว่า 10 คน จึงเปิดแผนรับมืออุบัติภัยหมู่ซึ่งจะมีการระดมทรัพยากรและประสาน รพ.ปลายทางต่าง ๆ ทั้งในจังหวัด สมุทรปราการและใกล้เคียงหากได้รับการร้องขอจากผู้บัญชาการเหตุการณ์ในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

พญ.วิชัญญา บุรีรักษ์ ผู้แทนแพทย์ผู้เผชิญเหตุและสั่งการ กล่าวว่า หลังมีการเตรียมความพร้อมประสานส่วนต่าง ๆ ทีมฝ่ายการแพทย์ได้ติดตามเรดาร์เครื่องบิน และเห็นว่าเครื่องน่าจะลงจอดเร็วกว่าเวลาที่กำหนดไว้ ทีมจึงได้ไปรอรับเครื่องบินลงจอด และสอบถามจากเจ้าหน้าที่สายการบินถึงจำนวนผู้ได้รับบาดเจ็บ ได้รับแจ้งว่ามีผู้เสียชีวิต 1 คน ส่วนจำนวนผู้บาดเจ็บยังไม่ทราบ และได้แจ้งเจ้าหน้าที่สายการบินจะต้องเตรียมการรองรับ เพราะอากาศยานจะต้องจอดอยู่ที่สนามบินสุวรรณภูมิอย่างน้อย 3 ชั่วโมง เพื่อดำเนินการเรื่องต่าง ๆ เนื่องจากมีผู้เสียชีวิต เมื่อเครื่องลงจอด ทีมแพทย์พร้อมเจ้าหน้าที่สายการบินได้ขึ้นไปบนเครื่อง ลูกเรือนำไปหลังเครื่องก่อนเพราะมีผู้บาดเจ็บส่วนใหญ่ โดยลูกเรือได้เตรียมให้ผู้บาดเจ็บรออยู่ที่ทางเดิน จึงให้แพทย์ไปดูในส่วนนี้ก่อน ซึ่งผู้โดยสารให้ความร่วมเป็นอย่างดี และได้ตัดสินใจขออนุมัติเปิดแผนฉุกเฉิน จากนั้นสนามบินได้ประกาศใช้แผนฉุกเฉินบทที่ 3 ให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปรายงานกับผู้บัญชาการ ณ ที่เกิดเหตุ ส่วนบนเครื่องบินมีทีมแพทย์ พยาบาลและคนขับรถขึ้นไปดูแลผู้บาดเจ็บ และคัดแยกคนไข้เป็นเขียว เหลือง แดง และดำ โดยมีการประสานฝ่ายต่าง ๆ ในการเตรียมพื้นที่รองรับ

ร.อ.นพ.ศรันย์ อินทกุล รอง ผอ.รพ.สมิติเวช ศรีนครินทร์ กล่าวว่าหลังได้รับการแจ้งเหตุจากสนามบิน รพ.ได้ประกาศโค้ดฉุกเฉิน 3 หลังจากประกาศโค้ดแล้วทาง รพ. ได้เตรียมความพร้อมทั้งหมด ให้มาประจำตามจุด ภายใน 10 นาทีพร้อมรับผู้บาดเจ็บ โดยมีผู้ป่วยจำนวน 85 คน นอกจากนี้ ได้ประสานรพ.ใกล้เคียงในการส่งต่อแต่ไม่พร้อมรับ จึงส่งต่อไป รพ.สมิติเวช สุขุมวิท ในจำนวนนี้มีคนไข้ต่างชาติค่อนข้างมาก จึงจำเป็นต้องเตรียมเลือดกรุ๊ปพิเศษ Rh Negative หากต้องผ่าตัด และได้ประสานกับธนาคารเลือดไว้ล่วงหน้า ภายใน 24 ชั่วโมงแรก รพ.ผ่าตัด 9 ราย ผลการรักษาเป็นไปด้วยความเรียบร้อย อีกทั้งทาง รพ.ให้การดูแลสภาพจิตใจ ของผู้ป่วยหลังจากที่ได้รับการรักษากับทาง รพ.

 

นายปิยะลักษณ์ ถิ่นแก้ว หัวหน้าชุดปฏิบัติการมูลนิธิร่วมกตัญญู กล่าวว่า เมื่อเกิดเหตุการณ์ทางมูลนิธิได้มีการเฝ้าฟังวิทยุสื่อสารและได้ทราบว่ามีการประสานขอรถพยาบาลในพื้นที่ใกล้เคียง จากประสบการณ์ของตนคาดว่าอาจจะเกิดเหตุการณ์ที่ต้องใช้รถพยาบาลจำนวนมาก ทางมูลนิธิฯ จึงได้สั่งการให้รถพยาบาลของมูลนิธิไปเตรียมความพร้อมและรายงานตัวที่จุดรายงานตัวของสนามบินสุวรรณภูมิทันที เพื่อรอรับคำสั่ง โดยมูลนิธิได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ประสานงานการจัดการรถพยาบาลฉุกเฉินจากภายนอก เพื่อเชื่อมกับแผนการรองรับเหตุการณ์ฉุกเฉินของสนามบิน นอกจากนี้ยังช่วยประสานงานในการอำนวยความสะดวกเส้นทางจราจรของรถพยาบาลที่จะนำส่งโรงพยาบาลสมิติเวช ศรีนครินทร์ อีกด้วย

ทั้งนี้ในช่วงสุดท้ายของการเสวนาเป็นการพูดถึงปัญหาและอุปสรรคซึ่งทุกฝ่ายได้มีการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นและเตรียมนำไปปรับปรุงสำหรับการซ้อมแผนเผชิญเหตุฉุกเฉินในครั้งต่อไปเพื่อให้เกิดการบูรณาการและการพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น

*************************************************************************
กลุ่มพัฒนาและสื่อสารองค์การ สพฉ. โทร.095-782-7239