“เพชรดาว” เปิดประชุม การขับเคลื่อนงาน อววน. สู่การพัฒนาจังหวัดปัตตานี

“ถ้าเราจะแก้ปัญหาความยากจนจริงไม่ใช่แค่ปริมาณตัวเลข ต้องมีตัวเลขชัดเจนว่าจะสามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตได้ขนาดไหน ต้องมีระดับที่เขาช่วยเหลือตัวเองได้ …..”

แพทย์หญิงเพชรดาว โต๊ะมีนา ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวในการเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง “การขับเคลื่อนงาน อววน.สู่การพัฒนาจังหวัดปัตตานี” วันที่ 24 มิ.ย. 67 ณ ห้องประชุมปริญญากร ชั้น 4 อาคารสำนักงานวิทยาเขตปัตตานี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เพื่อมอบนโยบายด้านการพัฒนาชุมชนและท้องถิ่น พร้อมติดตามสถานะของผลการวิจัยและการใช้ประโยชน์จากผลงานวิจัยในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตลอดจนรับฟังความต้องการและโจทย์วิจัยจากพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งมิติด้าน well-being และมิติด้าน ความขัดแย้ง ความรุนแรง และสันติภาพ โดยมี นางพาตีเมาะ สะดียามู ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี กล่าวต้อนรับ พร้อมด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อรุณีวรรณ บัวเนี่ยว อว.ส่วนหน้าจังหวัดปัตตานี กล่าวสรุปการพัฒนาโครงการด้าน อววน. ในพื้นที่จังหวัดปัตตานี ตลอดจน ผู้บริหารส่วนงานสำนักปลัดกระทรวง อว. ผู้บริหารหน่วยบริหารและจัดการทุนวิจัย (PMU) ผู้บริหารมหาวิทยาลัยทั้ง 3 จังหวัด นายอำเภอ และหัวหน้าส่วนราชการ คณะนักวิจัยและภาคีเครือข่ายงานวิจัย ตัวแทนชุมชน ตัวแทนภาคประชาสังคม ร่วมให้การต้อนรับและเข้าร่วมประชุม

พญ.เพชรดาว กล่าวว่า กระทรวง อว. มีภารกิจในการขับเคลื่อนการนำองค์ความรู้ด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) ไปสู่การพัฒนาพื้นที่ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนในทุกพื้นที่ของประเทศให้ดีขึ้นอย่างมีคุณภาพ โดยเน้นการนำศักยภาพของจังหวัดมาผนวกกับองค์ความรู้จากการวิจัยและพัฒนา สร้างสรรค์นวัตกรรมที่มาจากฐานความรู้แบบบูรณาการศาสตร์ข้ามศาสตร์ของสถาบันการศึกษา

“สถาบันการศึกษาในพื้นที่จะทำงานพัฒนาไม่ได้เลย หากไม่ได้รับความร่วมมือและการมีส่วนร่วมจากกลไกภาคีทุกภาคส่วนในพื้นที่ที่ต่างมีเป้าหมายเดียวกัน คือ การเพิ่มศักยภาพทั้งกำลังคนและกำลังการผลิตในภาคต่าง ๆ เพื่อยกระดับเศรษฐกิจในครัวเรือน เศรษฐกิจชุมชน และเศรษฐกิจในภาพรวมของจังหวัดชายแดนใต้ โดยเน้นให้ครัวเรือนและชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน ซึ่งกลุ่มจังหวัดภาคใต้ชายแดนเป็นพื้นที่ที่มีลักษณะโดดเด่น ภายใต้สภาพสังคมที่เป็นพหุวัฒนธรรม

กระทรวง อว. จึงได้มีการจัดทำแผนงาน/โครงการต่าง ๆ เพื่อยกระดับความเป็นอยู่ให้กับประชาชนในพื้นที่โดยเฉพาะทั้งการบริการจัดการด้านการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับมุสลิมเชื่อมโยงดาราศาสตร์มุสลิม โครงการนวัตกรรมเพื่อสังคมประจำพื้นที่ภาคใต้ชายแดน การยกระดับการผลิตด้านสินค้า ปศุสัตว์ การพัฒนาสินค้าอัตลักษณ์พื้นถิ่น เป็นต้น อว.กำหนดให้สถาบันอุดมศึกษามีการปฏิรูประบบการบริหาร ปรับเปลี่ยนหลักสูตร และการเรียนการสอนให้ทันสมัย เหมาะสมและสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาของประเทศตามอัตลักษณ์ของพื้นที่ สร้างจุดต่างตามความถนัดและมีความหลากหลายตามพันธกิจและความเชี่ยวชาญ ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญในการนำ อววน. ไปสู่การพัฒนาพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคใต้ชายแดนต่อไป”

“ถ้าเราจะแก้ปัญหาความยากจนจริงไม่ใช่แค่ปริมาณตัวเลข ต้องมีตัวเลขชัดเจนว่าจะสามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตได้ขนาดไหน ต้องมีระดับที่เขาช่วยเหลือตัวเองได้ พยายามให้เกิดรายใหม่ขึ้นมา ทำงานกับเด็กๆ ครอบครัว การศึกษา สุขภาพ เศรษฐกิจ ต้องมาด้วยกันทั้งหมด ปีนี้ได้เป็นคณะกรรมการของ ม.อ.ปัตตานี เห็นการขับเคลื่อนของมหาวิทยาลัยกับชุมชน กับจังหวัด จนมาเห็นชัดขึ้นเมื่อได้เป็นที่ปรึกษารมต.อว. ว่าจะเดินยังไง ตอนเกิดน้ำท่วมชายแดนใต้ จำได้ว่าได้อ.สมพร ช่วยอารีย์ ทำให้รู้ว่าพื้นที่เราต้องมีเครื่องมือรับภัยพิบัติอะไรบ้าง เมื่อมาอยู่อว.ทำให้รู้ว่ามีหน่วยงานที่จัดการน้ำ คือ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ ดูเรื่องน้ำทั้งระบบของไทย อว.มีทรัพยากร เครื่องมือที่ทันสมัย 5 เดือนที่เข้ามาเป็นที่ปรึกษา ได้เห็นงานวิจัย มีโครงการในชายแดนใต้ที่ผ่านกระทรวงอว.ถึง 200 กว่าโครงการ เกือบ 500 ล้านบาท สิ่งที่เห็นว่าเป็นสันติภาพที่กินได้ ยังจับต้องไม่ค่อยได้ ท่านจาตุรนต์บอกว่าอยากให้มีการขับเคลื่อนงานอว. กำหนดทิศทางโจทย์วิจัยไปในทิศทางเดียวกัน”

ด้านการผลักดันเพื่อต่อยอดทางด้านอาหารฮาลาลในจังหวัดชายแดนภาคใต้ พญ.เพชรดาว กล่าวว่า รัฐบาลพยายามสนับสนุนและหาทางผลักดันว่าจะพัฒนาไปสู่ Halal Hub ได้อย่างไร

“รัฐบาลสนับสนุนการดำเนินงานธุรกิจฮาลาลผ่านสภาอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นโอกาสของปัตตานีอีกครั้ง วันนี้มีสถาบันของม.อ.ปัตตานี และสถาบันของจุฬาฯ มีการให้ความรู้สร้างบุคลากรเพื่อศึกษา วิจัย ให้ผู้จบมาแล้วสามารถได้งานรองรับในโรงงานอุตสาหกรรมได้ ในส่วนของสถาบันวิจัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยก็เช่นเดียวกัน เราได้ระบบมาตรฐานโลกและเราจะผลักดันอย่างไร อย่าหวังเพียงรัฐบาล เราต้องพัฒนาในพื้นที่ตัวเองด้วย โดยใช้กระทรวง อว. มาช่วยส่งเสริม แนะนำพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ได้มาตรฐาน เป็นที่ยอมรับในตลาดโลกให้ได้ต่อไป โดยไม่ทิ้งพี่น้องชาวพุทธให้ได้รับโอกาสด้วยเช่นกัน
ครั้งหน้าเรามีหมายไว้ว่าจะมีการพบกับ องค์กร OIC ที่มีประเทศตัวแทนของโลกอาหรับ เพื่อจะมีการต่อยอดในช่องทางของธุรกิจให้กว้างมากยิ่งขึ้น”
ด้าน นางพาตีเมาะ สะดียามู ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี กล่าวถึงการทำงานร่วมกันระหว่างจังหวัดปัตตานี และม.อ.ปัตตานี ว่า จังหวัดปัตตานี และ ม.อ.ปัตตานีทำงานร่วมกันในทุกด้านเพื่อร่วมพัฒนาจังหวัดปัตตานี ทั้งงานในพื้นที่ ระดับท้องถิ่น ท้องที่ ไปจนถึงการร่วมทำแผนพัฒนาจังหวัดปัตตานีด้วยศักยภาพของสถาบันการศึกษาที่มีอาจารย์ มีนักวิจัย มีองค์ความรู้ศาสตร์สาขาต่าง ๆ ผนวกกับการขับเคลื่อนอย่างเข้มแข็งของกลไกจังหวัดทั้งระดับนโยบายและระดับปฏิบัติการ

“มีความเชื่อมั่นว่าจังหวัดปัตตานีจะพัฒนาไปได้ในทุกด้าน ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ได้รับการสนับสนุนจากผู้ใหญ่ในบ้านเมือง เมื่อปีที่แล้วนายกรัฐมนตรี รมต.มหาดไทย รมต. อว. ได้เดินทางมาเยี่ยมเยียนจังหวัดของเรา และมอบนโยบายเพื่อการพัฒนาจนเกิดแผนการทำงานต่อเนื่องตามมาหลายด้าน ทั้งด้านการพัฒนาบนฐานทุนทรัพยากรของจังหวัดชายแดนใต้ และการพัฒนาพื้นที่ตามอัตลักษณ์ของสังคมพหุวัฒนธรรม สำหรับการประชุมในครั้งนี้เป็นการนำเสนอผลงานที่เกิดจากการพัฒนาทั้งด้านการส่งเสริมอาชีพ การสร้างรายได้บนฐานเศรษฐกิจพอเพียงและการพัฒนาผลิตภัณฑ์อัตลักษณ์ที่ทั้งรักษาคุณค่าและสร้างมูลค่าให้กลุ่มวิสาหกิจชุมชนและผู้ประกอบการในพื้นที่

ขณะนี้ได้เตรียมการไว้ในเดือนตุลาคม อาจจะนำผลิตภัณฑ์ที่ได้มาตรฐานของ 3 จังหวัดชายแดนใต้ไปออกบูธในงานการแสดงสินค้าอาหารฮาลาลระดับโลกที่จัดขึ้นที่ประเทศซาอุดิอาระเบียอีกด้วย คาดว่าจะมีความชัดเจนในไม่ช้านี้”