เรือนจำเปิดร้านกาแฟหับเผย อย่างเป็นทางการ  พร้อมส่งเสริมอาชีพผู้ต้องราชทัณฑ์เต็มที่ เพื่อคืนคนดีสู่สังคมและมีงานทำ

วันที่ 8 กรกฎาคม 2567 นายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ พร้อมด้วย นายพัศพงศ์ ใจคล่องแคล่ว ผู้บัญชาการเรือนจำกลางเชียงราย ร่วมกันเปิด “ร้านหับเผย by กลางเชียงราย” ที่บริเวณด้านหน้าเรือนจำกลางเชียงราย ตำบลดอยฮาง อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย โดยมี ส่วนราชการ ภาคเอกชน ที่เกี่ยวข้อง ร่วมในพิธีเปิด ทั้งนี้การเปิด“ร้านหับเผย by กลางเชียงราย” มีทั้งร้านกาแฟ และร้านคาร์แคร์ รวมทั้ง วงดนตรีของผู้ต้องราชทัณฑ์ ชื่อวงดนตรี “หับเผยแบนด์”

โดยในพิธีเปิด มีการแสดงของเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ เรือนจำกลางเชียงราย รวมทั้ง ผู้ต้องขัง รวมทั้งการร้องเพลงขับกล่อม ของวงดนตรี “หับเผยแบนด์” ซึ่งเป็นผู้ต้องขังที่มีความสามารถด้านดนตรี ทั้งนี้ นายพัศพงศ์ ใจคล่องแคล่ว ผู้บัญชาการเรือนจำกลางเชียงราย ได้ร่วมร้องเพลงขับกล่อมผู้มีร่วมกิจกรรม ก่อนที่จะนำ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เยี่ยมชมร้านกาแฟ และ ผลงานทำมือสร้างชีพของผู้ต้องขัง ทั้งงานผ้า งานวาดรูป งานไม้ และอื่น ๆ

นายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวว่า รู้สึกเป็นเกียรติ และยินดีอย่างยิ่ง ที่ได้มาเป็นประธานในพิธีเปิดร้านหับเผยคาเฟ่ by กลางเชียงราย ณ เรือนจำกลางเชียงราย ในวันนี้ ถือได้ว่าเรือนจำกลางเชียงราย ได้ดำเนินกิจการสนองนโยบายกระทรวงยุติธรรม และนโยบาย 8 มิติ ยกระดับ สร้างการเปลี่ยนแปลง ของกรมราชทัณฑ์ ปี 2567 ได้เป็นอย่างดียิ่ง หากย้อนกลับไปเมื่อ 10 กว่าปีที่ผ่านมา เราจะเห็นว่ากระทรวง ยุติธรรม กรมราชทัณฑ์ พยายามที่จะปรับเปลี่ยนแนวนโยบายในการควบคุมผู้ต้องขัง บุคคลทั่วไปก็จะมองเรือนจำเป็นสถานที่ ที่ไม่น่าอภิรมย์ เป็นสิ่งน่ากลัวสำหรับบุคคล ทั่วไป

ในฐานะผู้บริหารกรมราชทัณฑ์ ก็พยายามที่จะสื่อสารให้ผู้ต้องขัง และประชาชน ทั่วไปได้เห็นคุณค่า เลข 13 หลัก ว่าผู้ต้องขัง เลข 13 หลักของเขามีศักดิ์มีสิทธิเท่าเทียมกับประชาชนคนไทยทั่วไปทุกคน การอบรมผู้ต้องขังเป็นหนึ่งในโปรแกรม ที่จะแก้ไขให้ผู้ต้องขังได้รับทราบว่าศักดิ์และสิทธิ์เลข 13 หลักของเขามีคุณค่าในช่วงที่ต้องโทษก็มีการอบรมฝึกอาชีพให้กับผู้ต้องขัง รายได้ก็เป็นส่วนหนึ่งในขณะที่เขาต้องโทษ 70 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ ที่ได้จากการฝึกอาชีพก็จะแบ่งเป็นรางวัลให้กับ ผู้ต้องขัง แบ่งเป็นรางวัลให้เจ้าหน้าที่ 10 เปอร์เซ็นต์ และอีก 20 เปอร์เซ็นต์ ก็นำมาใช้เป็นต้นทุนหมุนเวียนต่อไป

ผู้ต้องขังกลุ่มที่สามารถแก้ไขได้ เมื่อมีการฝึกทักษะวิชาชีพ และมีรายได้ระหว่าง ต้องโทษ ภายหลังจากพันโทษไป ก็เป็นหนึ่งในการส่งเสริมอาชีพให้เขาได้เริ่มต้นชีวิตใหม่อยู่ข้างในระหว่างต้องโทษก็ดูแลสภาพความเป็นอยู่ของเขาให้ดีขึ้น พอพ้นโทษออกไปเขาสามารถไปประกอบอาชีพได้หลากหลายอาชีพ ไม่เฉพาะร้านกาแฟ เราสามารถส่งเสริมให้เขามีอาชีพภายหลังพ้นโทษ หลายโครงการที่กรมราชทัณฑ์สนับสนุน ส่งเสริม ขอเพียงแต่หน่วยงานภายนอก ภาครัฐ ภาคเอกชน มองเห็นคุณค่าของผู้ต้องขังกลุ่มนี้ หลาย ๆ คนออกไปประกอบอาชีพจริง แม้กระทั่งการตัดผม ก็มีการส่งเสริมให้ผู้ต้องขังมีรายได้ เพื่อเป็นแรงใจในการก้าวข้ามความผิดพลาด และกลับตัวเป็นคนดีของสังคม

หวังเป็นอย่างยิ่งว่า เรือนจำกลางเชียงราย จะดำเนินการอย่างต่อเนื่องและผู้ต้องขังที่ได้ผ่านการอบรมและฝึกวิชาชีพด้านการบริการจำหน่ายกาแฟหรือเครื่องดื่มอื่น ๆ จะได้รับทักษะความรู้นำไปประกอบอาชีพสุจริต หารายได้เลี้ยงดูตนเอง และครอบครัว ไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด หรือกระทำผิดซ้ำอีก

นายพัศพงศ์ ใจคล่องแคล่ว ผู้บัญชาการเรือนจำกลางเชียงราย กล่าวว่า เรือนจำกลางเชียงราย ได้จัดทำโครงการก่อสร้างร้านกาแฟ ภายใต้ชื่อร้าน “หับเผยคาเฟ่ by กลางเชียงราย” เพื่อใช้เป็นสถานที่ฝึกวิชาชีพ ผู้ต้องขังที่ใกล้จะพ้นโทษ ภายใต้แนวคิด สร้างคน สร้างโอกาส สร้างอาชีพ คืนคนดีสู่สังคม เพื่อให้ผู้ต้องขัง ได้ฝึกวิชาชีพด้านการให้บริการจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม ให้กับเจ้าหน้าที่รัฐ ญาติผู้ต้องขัง ทนายความ พนักงานสอบสวนและประชาชนที่เข้ามาติดต่อราชการ รวมทั้งประชาชนหรือนักท่องเที่ยวทั่วไป ซึ่งสถานที่ร้านหับเผยคาเฟ่ by กลางเชียงรายแห่งนี้ มีบรรยากาศร่มรื่นอยู่ภายใต้ต้นฉำฉา (จามจุรี) มีกาแฟสดจากยอดดอย สู่ริมกำแพง และมีเบเกอรี่ ขนมไทย ที่ผ่านการประเมินผล ซึ่งได้รับการรับรองมาตรฐาน อาหารสะอาดรสชาติอร่อย Clean Food Good Tast อันเกิดจากการฝึกวิชาชีพของผู้ต้องขังหญิง แดน 4

การดำเนินการเปิดร้านหับเผยคาเฟ่ by กลางเชียงราย ภายใต้แนวคิด “สร้างคนสร้างโอกาส สร้างอาชีพ คืนคนดีสู่สังคม” ดังกล่าว เป็นการดำเนินการที่สอดคล้อง กับนโยบาย 8 มิติ ยกระดับสร้างการเปลี่ยนแปลง ของท่านอธิบดีกรมราชทัณฑ์ นายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ เพื่อใช้ในการขับเคลื่อนการบริหารงานราชทัณฑ์ มิติที่ 5 พัฒนาและต่อยอดการศึกษา การฝึกวิชาชีพ ที่สอดคล้องกับตลาดแรงงาน อันเป็นการพัฒนาพฤตินิสัยให้ผู้ต้องขัง คิดดี ทำดีเพื่อสร้างความปลอดภัยให้กับสังคม ผู้ต้องขังได้รับการปฏิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชนได้รับการบำบัด แก้ไข ฟื้นฟู และนำความรู้ที่ได้รับ ไปประกอบอาชีพสุจริตภายหลัง พ้นโทษ ทำให้ประชาชนรับรู้ เข้าใจ มีทัศนคติที่ดี ต่อกรมราชทัณฑ์