4ชาติลุ่มน้ำโขงคุมเข้มหลังใช้ขนยาบ้าปี300ล้านเม็ดทะลักไทย80%

นายเพิ่มพงษ์ เชาวลิต เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) เป็นหัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่ไทยพร้อมผู้แทนจาก 4 ประเทศลุ่มแม่น้ำโขงคือไทย สปป.ลาว เมียนมา และจีน ได้เดินทางด้วยเรือแม่น้ำโขงออกลาดตระเวณร่วมในแม่น้ำโขงชายแดนไทย-สปป.ลาว-เมียนมา ตั้งแต่ อ.เชียงแสน ไปจนถึงเมืองมอม แขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว ห่างจากสามเหลี่ยมทองคำ อ.เชียงแสน ประมาณ 17 กิโลเมตร โดยเป็นปฏิบัติการดังกล่าวสืบเนื่องจากการที่ประเทศต่างๆ ได้มีการเปิดศูนย์ประสานงานแม่น้ำโขงปลอดภัยหรือ Safe Mekong Coodination Center (SMCC) ตั้งแต่วันที่ 15 ม.ค.ที่ผ่านมา ณ ต.ช้างเผือก อ.เมือง จ.เชียงใหม่ เพื่อต่อต้านเครือข่ายยาเสพติด โดยปฏิบัติลาดตระเวณครั้งนี้ถือเป็นแผนของศูนย์ในระยะที่ 2 ซึ่งแต่ละฝ่ายได้ทราบถึงภูมิประเทศ การปฏิบัติงานของแต่ละฝ่ายและมีการหารือเพื่อร่วมกันสกัดกั้นต่อไป
นายเพิ่มพงษ์ กล่าวว่าการลาดตระเวณร่วมครั้งนี้ถือเป็นครั้งประวัติศาสตร์ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความร่วมมือระหว่างประเทศในเชิงรุก และเป็นสัญญานที่ดีในการประสานงานทางการข่าวและการปฏิบัติเพื่อควบคุมและหยุดยั้งการลักลอบนำเข้ายาเสพติด โดยถือเป็นการติดตามผลการปฏิบัติของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของทั้ง 4 ประเทศ เช่น การลาดตระเวณของ สปป.ลาว จากเมืองมอม การลาดตระเวณของจีนจาท่าเรือเมืองกวนเหล่ย และการตรวจค้นเรือสินค้า ฯลฯ ซึ่งผลจากทุกปฏิบัติการจะนำเข้าสู่การประชุมวิเคราะห์สถานการณ์เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติร่วมกันต่อไป
นายเพิ่มพงษ์ กล่าวอีกว่าตั้งแต่มีการเปิดปฏิบัติการหลังการตั้งศูนย์ถึงวันที่ 6 ก.พ.แต่ละประเทศมีผลปฏิบัติรวมกันทั้งหมด 839 ครั้ง มีการตั้งจุดตรวจจุดสกัด 166 ครั้ง ปิดล้อมตรวจค้น 97 ครั้ง ลาดตระเวณทางน้ำ 108 ครั้ง สืบสวนหาข่าวและปฏิบัติการ 372 ครั้ง ติดตามบุคคลตามหมายจับ 32 คน และเฝ้าตรวจและซุ่มโจมตีขบวนการค้ายาเสพติด 64 ครั้ง ผลการจับกุมคดียาเสพติด 587 คดี ผู้ต้องหา 741 คน ของกลางยาบ้าประมาณ 4 ล้านเม็ด เฮโรอีน 180 กิโลกรัม ยาไอซ์ 37 กิโลกรัม และสารซูโดอีเฟรดีน 293 กิโลกรัม
รายงานข่าวจาก ป.ป.ส.แจ้งว่านอกจากแม่น้ำโขงจะเป็นเส้นทางลำเลียงยาเสพติดแล้วยังมีการลักลอบขนสารตั้งต้นเพื่อใช้ในการผลิตยาบ้าโดยเฉพาะคาเฟอีนไปยังแหล่งผลิตครั้งละหลายร้อยกิโลกรัม โดยใช้เรือขนในแม่น้ำโขงเขตประเทศเพื่อนบ้านโดยพบนำมาจากประเทศเวียดนามเพื่อจะไปยังแหล่งผลิตจนสามารถจับกุมได้ 2 คดีในปี 2556 โดยมีอยู่คดีหนึ่งเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 13 เม.ย.2556 พบผู้ต้องหา 3 คน ของกลางคาเฟอีน 524 กิโลกรัม และผู้ต้องหาให้การว่ารับของกลางซึ่งขนข้ามแม่น้ำโขงแถบเมืองเชียงกก แขวงหลวงน้ำทา สปป.ลาว มายังเมืองเชียงลาบ จ.ท่าขี้เหล็ก เพื่อจะนำไปส่งเมืองสาด รัฐฉาน ตรงกันข้าม อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย และ อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่
รายงานข่าวแจ้งอีกว่าสำหรับเมืองท่าแม่น้ำโขงที่มีความสำคัญคือท่าเรือสบหรวยอยู่ในเขตปกครองพิเศษที่ 2 เมืองลา รัฐฉาน ของกลุ่มพันธมิตรเมืองลา (NDAA) ห่างจาก อ.เชียงแสน ประมาณ 195 กิโลเมตร ซึ่งการข่าวระบุมีการลักลอบนำยาเสพติดขซุกซ่อนปนมากับเรือสินค้าในแม่น้ำโขงมากที่สุดโดยตัวยาเสพติดอยู่ในพื้นที่อิทธิพลของกลุ่มว้า กลุ่มโกกั้งและกลุ่มเมืองลาคือยาบ้า ยาไอซ์ และเฮโรอีน ส่วนเมืองเชียงลาบตั้งอยู่ตรงกันข้ามบ้านเชียงกก เมืองลอง แขวงหลวงน้ำทา สปป.ลาว ถูกระบุว่าเป็นพื้นที่ลักลอบลำเลียงและพักยาเสพติด ปากแม่น้ำรินหรือสบรินหรือสบเลนซึ่งไหลลงสู่แม่น้ำโขงโดยเป็นจุดเชื่อมระหว่างเมียนมา-สปป.ลาว-เวียดนาม และลงใต้สู่ประเทศไทยจึงเป็นเส้นทางลำเลียงยาเสพติดของหลายกลุ่ม บ้านสามพู จ.ท่าขี้เหล็ก ห่างจากสามเหลี่ยมทองคำประมาณ 25 กิโลเมตร เคยเป็นเขตอิทธิพลของนายหน่อคำที่เคยอาระวาดเก็บค่าคุ้มครองและค้ายาเสพติดแต่ถูกทางการจีนจับก่อนประหารชีวิตไปแล้วหลังไปก่อเหตุปล้นและฆ่าลูกเรือชาวจีน 2 ลำ เมื่อปี 2554
นอกจากนี้ยังมีเมืองท่าที่ถูกจับตามอง เช่น บ้านโป่ง เมืองพง ห่างจากสามเหลี่ยมทองคำประมาณ 5 กิโลเมตร บ้านป่าแลว ห่างจาก อ.แม่สาย ประมาณ 60 กิโลเมตร สามารถเชื่อมกับเมืองเชียงกก สปป.ลาว ได้ บ้านป่าสา เมืองพง ฯลฯ ส่วนท่าเรือ สปป.ลาว ที่ถูกจับตาคือท่าเรือบ้านเชีงกก ห่างจากสามเหลี่ยมทองคำประมาณ 82 กิโลเมตร บ้านดอนมูล แขวงบ่อแก้ว ซึ่งเมื่่อปี 2554 มีการตรวจยึดเรือที่ขนลำเลียงยาสเพติดได้กว่า 20 กระสอบ บ้านมอมอยู่ในเขตเมืองต้นผึ้ง แขวงบ่อแก้ว ซึ่งก็เคยมีการจับกุมยาเสพติดหลายครั้ง รวมถึงเมืองห้วยทรายตรงกันข้าม อ.เชียงของ จ.เชียงราย ขณะที่เขตประเทศไทยพบว่าพื้นที่ อ.แม่สาย อ.เชียงแสน อ.เชียงของ อ.เวียงแก่น อ.แม่จัน อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย มีปัญหาเรื่องยาเสพติดที่สืบเนื่องมาจากแม่น้ำโขงอย่างต่อเนื่องทำให้เจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายต้องทำการสกัดกั้นตลอดแนวจนมีการจับกุมและตรวจยึดได้หลายครั้ง
รายงานข่าวแจ้งด้วยว่านับตั้งแต่ 4 ประเทศลุ่มแม่น้ำโขงได้ร่วมมือกันลาดตระเวณในแม่น้ำโขงหลังเหตุการณ์ปราบปรามกลุ่มนายหน่อคำหรือ Safe Mekong ครั้งแรก ตั้งแต่วันที่ 20 เม.ย.-20 มิ.ย.2556 ก็ได้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารระหว่างภาครัฐระหว่างกันมากขึ้นและทำให้แต่ละประเทศมีการจับกุมดำเนินคดีซึ่งคาดการณ์กันว่ามีคดียาเสพติดที่ใช้แม่น้ำโขงลำเลียงรวมกันตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นมากว่า 1,590 คดี ผู้ต้องหา 2,241 คน ของกลางยาบ้า 31.6 ล้านเม็ด ยาไอซ์ 170 กิโลกรัม เฮโรอีน 973 กิโลกรัม และสารตั้งต้นน้ำหนัก 225.5 ตัน อย่างไรก็ตามภายหลังปฏิบัติการดังกล่าวขบวนการค้ายาเสพติดยังคงใช้แม่น้ำโขงในการลำเลียงอยู่แม้ทาง สปป.ลาว และเมียนมา จะทำการลาดตระเวณในเขตแดนของตนแต่ก็ไม่สามารถสกัดกั้นได้ทั้งหมด
ดังนั้นจึงมีการประมาณการกันในปี 2557 ว่ามียาบ้าที่ถูกลำเลียงผ่านแม่น้ำโขงปีละกว่า 200-300 ล้านเม็ด ยาไอซ์ปีละ 3,500 กิโลกรัม ขณะที่การจับกุมของประเทศไทยสามารถทำได้เพียงร้อยละ 10 หรือเฉลี่ยปีละ 20 ล้านเม็ด ยาไอซ์ 400-500 กิโลกรัม ส่วนยาบ้าและยาไอซ์กว่าร้อยละ 70-80 ถูกลำเลียงเข้าสู่ประเทศไทยที่เหลือแพร่ระบาดในประเทศต่างๆ.