เมื่อเวลา 15.00 น.วันที่ 9 ส.ค.2567 ที่ศาลากลางจังหวัดขอนแก่น นายไกรสร กองฉลาด ผวจ.ขอนแก่น เปิดเผยว่าจังหวัดได้ติดตามสถานการณ์น้ำในพื้นที่มาอย่างต่อเนื่องโดย แบ่งการบริหารจัดการน้ำออกเป็น 2 เขต คือในพื้นที่เขตเมือง ที่เมื่อฝนตกแล้วน้ำท่วมซ้ำๆที่เดิม คือ ที่ ต.บ้านเป็ด ที่ บ บ้านกอก และ บ.ศิลา ต.ศิลา โดยเฉพาะบ้านเป็ดนั้น ทุกครั้งที่ฝนตกลงมา น้ำจะท่วมขังรอระบาย จึงได้ดำเนินการลอกท่อ ขุดทางที่กีดขวางทางน้ำ รื้อถอนอาคารต่างๆที่ไม่ได้ใช้งานและขวางทางน้ำออก รวมทั้งได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำไว้ตามจุดต่างๆ ที่สำคัญเวลาฝนตกลงมา ให้เดินเครื่องได้ทันทีและช่วงที่ยังไม่มีฝนตก จังหวัดก็ทำการพร่องน้ำจากบึงหนองโคตรวันละไม่ต่ำกว่า 6-7 หมื่น ลบ.ม. เพื่อที่จะรับน้ำที่ไหลลงมาจากทาง ร.8
“ขณะที่การบริหารจัดการน้ำในภาพรวมของเขื่อนอุบลรัตน์นั้น กรมอุตุนิยมฯคาดการณ์ว่าประมาณเดือน ก.ย. พายุลานีญาจะเริ่มมา ฝนจะเริ่มตกชุก ซึ่งปัจจุบันเขื่อนอุบลรัตน์ ทำการระบายวันละ 15 ล้าน ลบ.ม. และถ้าน้ำชียังโล่งอยู่ และไม่กระทบต่อท้ายน้ำ ก็ถือว่าเป็นนาทีทองในการระบายน้ำ ซึ่งที่ประชุมคณะกรรมการลุ่มน้ำมีมติให้มีการระบายเพิ่มขึ้นได้ จาก 20 ลบ.ม. เป็น 22 ลบ.ม. ได้ อย่างไรก็ดี
อีกไม่นานเขื่อนลำน้ำปาวก็จะระบายมาเหมือนกัน ถ้าตอนที่น้ำระบายออกมาจะเป็นปัญหาต่อการระบายน้ำจากขอนแก่นลงไปท้ายน้ำ”
ผวจ.ขอนแก่น กล่าวต่อว่า ได้มอบหมายให้กรมชลประทานประสานกับเขื่อนทั้ง 2 แห่งในการระบายน้ำให้สอดคล้องกัน โดยตั้งแต่ 1 พ.ค. เป็นต้นมาได้ทำการพร่องน้ำไปแล้ว 895 ล้าน ลบ. ม. ซึ่งถ้าไม่ทยอยพร่องน้ำ ก็จะมีปริมาณ 50% ของความจุอ่างหรือประมาณ 1,240 ล้าน ลบ.ม.
อย่างไรก็ตาม ทุกอย่างผ่านมติคณะกรรมการลุ่มน้ำจัดการน้ำทั้งหมดจึงมีแผนร่วมกันว่า ช่วงนี้จะยังไม่เก็บน้ำ เพราะน้ำเข้าอ่างน้อยกว่าน้ำที่ระบายออก ทำให้ลดระดับลงได้
“เราจะเริ่มเก็บน้ำตั้งแต่กลางเดือน ก.ย. เป็นต้นไปจนถึงสัปดาห์ที่ 3 ของเดือน ต.ค. และเมื่อถึงช่วงนั้น คิดว่าทำการระบายไม่ได้แน่นอน เพราะถ้าระบายจะเหมือนไปซ้ำเติมประชาชนที่อยู่ท้ายเขื่อน โดยที่ประชุมกรรมการลุ่มน้ำยังมีมติให้กำชับทางเขื่อนฯเร่งซ่อมแซมคันดิน ที่ อ.โนนสัง จ.หนองบัวลำภู เพราะเกรงจะมีปัญหาในช่วงที่เขื่อนอุบลรัตน์รับปริมาณน้ำเข้าอ่างปริมาณมากตามการคาดการณ์”