มูลนิธิฮัจญีสุหลง แถลงข่าวก่อตั้งวิทยาลัยฮัจญีสุหลง ครบ 70 ปีการสูญหายของฮัจยีสุหลง

(13 ส.ค.67) ในวาระครบรอบ 70 ปีการสูญหายของฮัจญีสุหลง อับดุลกอเดร์ โต๊ะมีนาและเครือญาติผู้ล่วงลับ มีการละหมาดฮายัต พร้อมแถลงข่าวการจัดตั้งและลงนามบันทึกความเข้าใจการจัดตั้งโครงการ “วิทยาลัยฮัจยีสุหลง” หรือ KOLEJ HAJI SULONG (K-HAS) ณ ห้องประชุมมูลนิธิอาจารย์ฮัจยีสุหลง อับดุลกอเดร์ โต๊ะมีนา อ.เมือง จ.ปัตตานี

พญ.เพชรดาว โต๊ะมีนา กล่าวในวันครบรอบ 70 ปี แห่งการสูญหายของฮัจยีสุหลงฯ ว่าหากนับย้อนหลังไปเมื่อ 70 ปีที่แล้ว ในวันศุกร์ที่ 13 สิงหาคม 2567 มีบุคคลรวม 4 ท่าน ได้แก่ ฮัจยีสุหลง อับดุลกอเดร์ โต๊ะมีนา นายอะห์มัด โต๊ะมีนา นายอิสเฮาะ ยูโซฟ และ นายวันอุสมาน อะหมัด ได้ ออกจากภูมิลําเนาตามคําสั่งเรียกตัว เพื่อไปรายงานตัวกับตํารวจสันติบาล สงขลา ซึ่งตั้งแต่บัดนั้น บุคคลทั้งสี่ก็ไม่เคยได้กลับมายัง “บ้าน” ของตนเองอีกเลย ท่ามกลางการรอคอยของครอบครัวอันเป็นที่รัก ทราบภายหลังว่า บุคคลทั้งสี่ได้ถูกฆาตกรรมโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ บางกลุ่ม หรือในคําปัจจุบันเรียกว่า “การถูกบังคับสูญหาย” โดยในวันนี้เป็นวันครบรอบ 70 ปี แห่งการสูญหายของทั้งสี่ท่าน ครอบครัวโต๊ะมีนา และเครือญาติของผู้สูญูหายทั้งสี่ได้จัดงานระลึกถึงการสูญหายในทุกๆ ปี โดยมีกิจกรรมที่ต่างกันในแต่ละปี ทั้งนิทรรศการ เสวนา บทกวี และอนาชีด

“เรามีจุดประสงค์เดียวของการจัดงาน คือ การระลึกถึงบุคคลผู้เป็นที่รัก ผู้เป็นหัวหน้าครอบครัว และเป็นอีกหลายสิ่งให้กับครอบครัว แต่นอกเหนือจากนั้น เป็นการจัดงานเพื่อให้สังคมโดยทั่วไปตระหนักและร่วมกันหาทางป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์บังคับสูญหายเช่นนี้กับบุคคลหรือครอบครัวของใครอีก เป็นการสื่อสารต่อสังคมให้ช่วยกันผลักดัน ระวังป้องกันต่อกรณีเช่นนี้ ซึ่งในที่สุดแล้วก็มีพระราชบัญญัติป้องกันการซ้อมทรมานและบังคับสูญหาย พ.ศ 2565 เกิดขึ้นมาบังคับใช้ในประเทศไทยในสมัยสภาชุดที่ผ่านมา ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะมีกลุ่มที่ไม่เห็นด้วย มีการขอเลื่อน ยื้อไม่ให้ใช้ในบางมาตรา หากด้วยการผลักดันของทุกๆ ฝ่าย จึงเริ่มมีผลบังคับใช้เมื่อ 22 กุมภาพันธ์ 2566

แม้กฎหมายฉบับนี้เป็นกฎหมายที่ทันสมัยที่สุด เป็นนวัตกรรมของโลกในการเอาเรื่องป้องกันการซ้อมทรมานและอุ้มหายอยู่ในฉบับเดียวกัน แม้จะไม่ใช่เครื่องมือที่ดีที่สุดในการระงับยับยั้งการกระทำที่เลวร้ายต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน แต่ก็สามารถใช้ป้องปรามบุคคลที่คิดจะ
กระทำได้ในระดับหนึ่ง

“ปีนี้ คือ 70 ปี 7 ทศวรรษ แห่งการถูกบังคับสูญหายของฮัจยีสุหลงและคณะฯ หลายๆท่านแปลกใจที่การจัดงานในปีนี้แตกต่างไปจากทุกๆ ปี หากติดตามการจัดงานมาก่อนหน้า
ครั้งนี้เป็นความตั้งใจของครอบครัวที่ประสงค์จะให้งานในปีนี้เรียบง่ายมากที่สุดและย้อนกลับไปมองถึงเจตนารมณ์ของฮัจยีสุหลงฯ ที่แท้จริงแล้วเป็นนักการศึกษา เป็นครูบาอาจารย์ เป็นบาบอที่ลูกศิษย์เคารพรัก ฮัจยีสุหลงฯ กลับมาจากการเล่าเรียนที่มักกะฮ์เห็นว่าการศึกษามีความสำคัญในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในปัตตานีได้อย่างแท้จริง จึงได้เปิดการศึกษาที่เป็นระบบ “โรงเรียน” ซึ่งเป็นที่แปลกประหลาดของผู้คนในยุคนั้นที่มักจะเล่าเรียนในระบบ “ปอเนาะ” และโรงเรียนที่มีชื่อว่า (มัดราชะห์ดารุลมุอาเรฟ อัลวาฏอนียะฮ์) กลายมาเป็นต้นแบบของโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามในปัจจุบัน

โดยโรงเรียนแห่งนี้ได้ตกทอดจากยุคสู่ยุคตามกาลเวลา ยังคงมีการเรียนการสอนอยู่จนถึงปัจจุบันนี้ในชื่อเดิม ฮัจยีสุหลงฯ ใส่ใจกับการพัฒนาคนผ่านการศึกษาอย่างมาก ทุกขณะในชีวิตอุทิศให้การศึกษาอย่างเต็มที่ในทุกๆ ศาสตร์ที่เล่าเรียนมา ทั้งด้านศาสนาอิสลาม ด้านดารา ด้านดาราศาสตร์ ด้านการแพทย์ (เป็นหมอรักษากระดูก) รวมถึงการสอนให้ผู้คนมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนต่างศาสนิกโดยไม่มีศาสนามาขวางกั้น ดังเช่นฮัจยีสุหลงฯมีกัลยาณมิตรต่างเชื้อชาติ ศาสนา อย่างนายแพทย์เจริญ สืบแสง (ขุนเจริญวรเวชช์) แต่ก็ได้ร่วมทำงางานเพื่อแผ่นดินเกิดปัตตานีอย่างจริงจัง มากมาย จนต่างสิ้นอายุขัยตามความประสงค์ของอัลลอฮ”

มูลนิธิอาจารย์ฮัจยีสุหลง อับดุลกอเตร์ โต๊ะมีนา และภาคีเครือข่ายร่วมได้แก่องค์กร MIP (MAC) INSAN/PUKIS) จึงได้ลงนามบันทึกความเข้าใจเพื่อร่วมกันจัดตั้งโครงการ “วิทยาลัยฮัจยีสุหลง” หรือ KOLEJ HAJI SULONG (K-HAS) การลงนามครั้งนี้ถือเป็นการสานต่อเจตนารมณ์ของฮัจยีสุหลงที่ต้องการพัฒนาระบบการศึกษาที่เหมาะสมกับคนพื้นที่
ในอดีตฮัจยีสุหลงและคณะได้จัดตั้งสถานศึกษาในรูปแบบโรงเรียนแห่งแรกในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ชื่อเรียกว่า “มัดราชะห์ อัล มุอาเรฟ อัลวาฏอนียะห์” (Madrasah AL-MAARIF AL WATANIAH) ซึ่งถือได้ว่าเป็นต้นแบบของโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามในปัจจุบัน ที่สำคัญโรงเรียนแห่งนี้ได้เปิดการเรียนการสอนอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบันมากกว่า 90 ปี โดยปัจจุบันรู้จักกันในนามโรงเรียนดารุลมูอาเรฟฯ นั่นเอง

วิทยาลัยฮัจยีสุหลง เป็นโครงการจัดตั้งสถานศึกษาในรูปแบบวิทยาลัยและตั้งมั่นเพื่อให้เป็นวิทยาลัย “ปฏิบัติการ” และ “นวัตกรรม” คือ เป็นวิทยาลัยที่ผู้เรียนต้องลงมือทำ ลงมือปฏิบัติ ในการเรียนรู้ควบคู่กับวิชาการ รวมถึงต้องเรียนรู้เพื่อสร้างนวัตกรรมทางสังคมใหม่ๆ ต่อการพัฒนาบ้านเกิดเมืองนอนของตนเองในอนาคต โดยนำเอาแนวคิดจากข้อเสนอทั้ง 7 ข้อของฮัจยีสุหลงฯและคณะ ที่ยังมีความทันสมัยมาแปลงคณะหรือรายวิชาต่างๆ เพื่อให้ความรู้แก่นักศึกษาในทุกมิติ โครงการดังกล่าวนี้ยังคาดหวังที่จะแสวงหาความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในสังคมเพื่อเป้าประสงค์ที่จะพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ด้วยการศึกษาเพื่อการพัฒนาปัตตานีในอนาคต โดยไม่แบ่งแยกเชื้อชาติ ศาสนา แต่เป็นเพื่อแผ่นดินบ้านเกิดเท่านั้น