9 องค์กรภาคประชาสังคมชายแดนใต้/ปาตานี แถลงการณ์ถึงนายกรัฐมนตรี แพทองธารให้ยกปัญหาชายแดนใต้เป็นวาระแห่งชาติ

9 เครือข่ายประชาสังคมและเครือข่ายภาคประชาชนชายแดนใต้/ปาตานี ร่วมแถลงการณ์ถึงนายกรัฐมนตรี แพทองธาร ยกปัญหาชายแดนใต้เป็นวาระแห่งชาติ เป็นเรื่องของคนไทยทุกคน พร้อมจัดเวทีรับฟังข้อคิดเห็นทุกภูมิภาคเพื่อดันพรบ.สันติภาพ ณ อาคารเรือนรับรอง ม.อ.ปัตตานี เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2567
เครือข่ายประชาสังคมและเครือข่ายภาคประชาชนชายแดนใต้/ปาตานี นำโดย นางสาวลม้าย มานะการ ประธานสภาประชาสังคมชายแดนใต้ แถลงการณ์ว่า เนื่องจากสถานการณ์ความรุนแรงที่ยืดเยื้อในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และความล่าช้าของกระบวนการพูดคุยสันติภาพที่ยังไม่ประสบผลสำเร็จ เครือข่ายภาคประชาสังคมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ขอร่วมแสดงเจตจำนงและความเป็นเอกภาพในการเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างเร่งด่วน
พวกเราขอเรียกร้องให้รัฐบาลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี นางสาวแพทองธาร แสดงเจตจำนงทางการเมือง ด้วยการบรรจุแนวนโยบายการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในคำแถลงนโยบายของรัฐบาลต่อรัฐสภา ทั้งนี้ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและความหวังให้กับประชาชนในพื้นที่ และเป็นการแสดงออกถึงความรับผิดชอบต่อปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่ารัฐบาลจะเล็งเห็นถึงความสำคัญของปัญหานี้ และดำเนินการอย่างจริงจังเพื่อสร้างสันติสุขและความยั่งยืนให้กับจังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อไป
รายนามองค์กรร่วมแถลงการณ์ 1. กลุ่มเยาวชนจิตอาสาปะนาเระ 2. เครือข่ายชุมชนรอบอ่าวปัตตานี อำเภอเมืองและอำเภอยะหริ่ง จังหวัตตามี 3. เครือข่ายชาวพุทธเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ (B4P) 4. คณะสันติภาพภาคประชาชน 5. ชมรมพุทธรักษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ 6. สภาประชาสังคมชายแดนใต้ 40 องค์กรสมาชิก (CSCS) 7. สมาคมสภาประชาสังคมชายแดนใต้ (สสชต.) 8. สมาคมเพื่อสันติภาพและการพัฒนา (PDA) และ 9. สมาคมด้วยใจเพื่อการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม
โดยนายตูแวตานียา ตูแวแมแง อ่านจดหมายเปิดผนึกคณะสันติภาพภาคประชาชนถึง นายกรัฐมนตรี นางสาวแพทองธาร ชินวัตร เรื่อง ขอให้นายกรัฐมนตรีกำหนดให้กระบวนการสร้างสันติภาพชายแดนใต้เป็นวาระแห่งชาติโดยกฎหมาย และบรรจุอยู่ในถ้อยแถลงนโยบายของรัฐบาล ที่จะแถลงต่อสภาผู้แทนราษฎรด้วย
“ด้วยสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ชายแดนภาคใต้อันมีสาเหตุหลักเกิดขึ้นมาจากความขัดแย้งทางความคิดการเมืองต่างกันระหว่างแนวคิดตามวิถีชีวิตวัฒนธรรมของพลเมืองไทยเชื้อสายมลายูนับถือศาสนาอิสลามซึ่งมีจำนวนประมาณ 85 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ชายแดนภาคใต้ กับแนวคิดตามแนวนโยบายของรัฐบาลตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ยังคงไม่มีความสมดุลลงตัวระหว่างโครงสร้างการเมืองการปกครองของรัฐกับวิถีชีวิตวัฒนธรรมของผู้คนซึ่งเป็นพลเมืองไทยโดยสมบูรณ์ดังกล่าว
จนกระทั่งได้มีความขัดแย้งด้วยกำลังอาวุธต่อต้านรัฐแบบองค์กรลับอย่างยืดเยื้อบานปลายเรื้อรังตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ฮัจยีสุหลงกับคณะได้ถูกอุ้มหายไปในปี พ ศ. 2497 จวบจนถึงปัจจุบันเป็นเวลา 70 ปีแล้ว ที่สถานการณ์ไฟใต้ได้สร้างความสูญเสียทั้งชีวิตและ โอกาสในการมีคุณภาพชีวิตที่ดี อีกทั้งยังสร้างภาพลักษณ์ของความเป็นรัฐ ที่ไม่มีศักยภาพมากพอในการใช้สันติวิธีแก้ปัญหา
ถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลพลเรือนซึ่งมาจากการเลือกตั้งจากประชาชน โดยการนำของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี จะต้องมีกระบวนทัศน์ใหม่ในการดับไฟใต้ ตามวิถีทางประชาธิปไตย ที่ไม่ได้เป็นการแก้ปัญหาด้วยแนวทางแบบอำนาจนิยมที่ใช้การทหารนำการเมืองเหมือนยุคสมัยในอดีต ด้วยการที่
1.นายกรัฐมนตรีจะต้องมีเจตจำนงทางการเมืองอันแรงกล้าเป็นที่ประจักษ์ในสายตาของประชาชนในการสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน
2.รัฐบาลควรมีแนวนโยบายการดับไฟใต้บนฐานคิดที่รัฐบาลเป็นเจ้าภาพหลัก และองคาพยพต่างๆ ในโครงสร้างกลไกของรัฐต้องดำเนินการปฏิบัติตามแนวนโยบายและยุทธศาสตร์ของรัฐบาลอย่างเคร่งครัด
3.รัฐบาลควรกำหนดให้กระบวนการสร้างสันติชายแดนใต้ มีสถานะเป็นวาระแห่งชาติโดยกฎหมาย เพื่อให้มีความต่อเนื่องยั่งยืนในกรอบระยะเวลาที่เหมาะสมของการสร้างสันติภาพอย่างเป็นยุทธศาสตร์ สามารถกำหนดการวัดผลสัมฤทธิ์ที่ชัดเจนตามยุทธศาสตร์ และเป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย
4.รัฐบาลควรอำนวยความสะดวก และส่งเสริมให้ภาคประชาชนได้มีส่วนร่วมในการสร้างสันติภาพด้วยแนวทางสันติวิธีอย่างเป็นรูปธรรม เช่น กิจกรรมการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นต่อกระบวนการสันติภาพในฐานะเจ้าของพื้นที่และผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรงได้ร่วมกันแลกเปลี่ยนความคิดเห็นบนฐานข้อมูลที่เป็นจริง ไม่ว่าจะเป็น การทบทวนกฎหมายที่กำลังบังคับใช้และกฎหมายใหม่ที่จะมีการเสนอในอนาคต การมีส่วนร่วมในการพิจารณาข้อเสนอก่อนเข้าสู่การพูดคุยสันติภาพ เป็นต้น เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ทุกกลุ่ม ทุกศาสนา องค์กร ผู้นำด้านต่างๆ รวมทั้งภาครัฐ และเอกชนได้มีส่วนร่วม โดยมีคณะสันติภาพภาคประชาชน เป็นหนึ่งในกลไกหลักในการประสานการทำงาน”
นอกจากนั้นได้มีข้อเสนอเพิ่มเติมจาก สมาคมเพื่อสันติภาพและการพัฒนา เครือข่ายชาวพุทธเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ และกลุ่มเยาวชนจิตอาสาปะนาเระต่อคำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในวันพฤหัสบดีที่ 12 กันยายน 2567 ว่า จากการทำงานในพื้นที่ความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้และยืนยันในกระบวนการพูดคุยสันติภาพหรือสันติสุขมาโดยตลอด ได้ติดตามคำแถลงนโยบายที่จะมีการแถลงต่อรัฐสภาในวันพฤหัสบดีที่ 12 กันยายน ที่จะถึง เห็นว่ารัฐบาลมุ่ง 9 ประการข้อท้าทายและ 10 นโยบายเร่งด่วน โดยยึดหลักฟื้นฟูความเชื่อมั่นเป็นสำคัญ แต่ไม่พบการแก้ปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งข้อท้าทายและนโยบายเร่งด่วนล้วนเป็นการแก้ไขปัญหาในภาพกว้าง แต่พบเรื่องการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ในเรื่องของความจำเป็นที่จะต้องพลิกฟื้นความเชื่อมั่นของคนไทยและต่างชาติ ด้วยการพัฒนาการเมืองในระบอบประชาธิปไตยให้เข้มแข็ง มีเสถียรภาพ มีนิติธรรม และความโปร่งใส ในข้อที่ 1 คือ รัฐบาลจะเร่งจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้นโดยเร็วที่สุด โดยยึดโยงประชาชนและหลักการของประชาธิปไตย สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนสากล เคารพพหุวัฒนธรรม เพื่อเป็นบันไดไปสู่การพัฒนาประชาธิปไตยของประเทศไทยให้มีความเข้มแข็งและยั่งยืน โดยมีเสถียรภาพทางการเมืองเป็นปัจจัยเร่งที่สำคัญ รวมถึงการสร้างสันติภาพและสันติสุขในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ประชาชนมีส่วนร่วนร่วมอย่างยั่งยืน เพียงเท่านั้น
สมาคมเพื่อสันติภาพและการพัฒนา และเครือข่ายชาวพุทธเพื่อสันติภาพฯ รวมถึง กลุ่มเยาวชนจิตอาสาสาปะนาเระ ที่สร้างองค์ความรู้ด้านสิทธิมนุษยชน และสร้างกระบวนการสันติภาพในบทบาทของคนไทยพุทธ ด้วยการสร้างพื้นที่การอยู่ร่วมกันตามวิถีชีวิตของประชาชนในพื้นที่ รับฟังความคิดเห็นและทำข้อเสนอต่อกระบวนการพูดคุย และขอนำข้อเสนอบางส่วนเสนอต่อคณะรัฐมนตรี โดยมีนางสาวแพทองธาร ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ได้พิจารณา ดังนี้ 1.ให้กระบวนการพูดคุยสันติภาพหรือสันติสุข เป็นวาระแห่งชาติ 2.เร่งให้มีการปกครองแบบกระจายอำนาจ 3.ให้มีคณะกรรมการสันติภาพหรือสันติสุขในระดับท้องถิ่น ระดับจังหวัด และระดับภูมิภาค เพื่อเชื่อมประสานคู่ขัดแย้งในพื้นที่ตั้งแต่ระดับชุมชน และหมู่บ้าน 4.มีส่วนเสนอแนะวาระสำคัญสำหรับคู่พูดคุย หรือเจรจา 5.ให้มีเวทีสาธารณะและพื้นที่ปลอดภัยในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่
ในมิติของการแก้ปัญหาสำหรับคนไทยพุทธ เนื่องจากประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่นับถือศาสนาพุทธตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงมาโดยตลอด ทำให้มีความรู้สึกกังวลหากมีการถอนทหาร จึงมีข้อเสนอดังนี้ 1.กำหนดกระบวนการและขั้นตอนของการถอนทหาร และการยกเลิกกฎหมายพิเศษ โดยประชาชนที่นับถือศาสนาพุทธในพื้นที่นั้นๆ มีส่วนร่วม 2.กำหนดให้วันสารทเดือนสิบ เป็นวันหยุดราชการ3.จัดให้มีโควตาการเข้าทำงานส่วนราชการในจังหวัดชายแดนภาคใต้สำหรับคนไทยพุทธ 4.ให้มีการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ให้ความรู้ด้านการขาย การพัฒนาอาชีพ โดยเฉพาะกลุ่มคนไทยพุทธที่เป็นเหยื่อของความรุนแรง ที่ทำกลุ่มอาชีพแต่ไม่สามารถค้าขายได้
ในมิติการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ 1.ให้มีการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบที่พิการ หรือติดเตียง อย่างต่อเนื่องหรือตลอดชีวิต 2.ให้มีการฝึกทักษะการดูแลผู้ป่วยที่พิการ หรือติดเตียง ให้กับญาติที่ต้องดูแลผู้ป่วย รวมถึงฝึกทักษะการช่วยเหลือเมื่อต้องเผชิญกับภัยพิบัติ 3.ให้มีการดูแลอย่างต่อเนื่องสำหรับผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบที่มีอาการทางจิตใจ 4.ฝึกอาชีพให้กับทายาทผู้ได้รับผลกระทบ
ในมิติของเยาวชน 1.สร้างพื้นที่กลาง เพื่อการมีส่วนร่วมระหว่างเยาวชนทุกศาสนิก 2.คงด่านหลักไว้ และลดจำนวนด่านลอย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวลากลางคืน 3.ทุกภาคส่วนร่วมกันแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่อย่างจริงจัง 4.รับฟังเสียงจากเยาวชน เพื่อนำไปสู่ผู้มีอำนาจหน้าที่ในการวางนโยบาย แก้ไขปัญหาสามารถนำมาปรับใช้ได้จริง เพื่อยุติความรุนแรงในสังคมตั้งแต่เรื่องพื้นฐาน 5.สร้างพื้นที่ปลอดภัยให้กับเด็ก เยาวชนในการแสดงออกทางการเมืองอย่างสร้างสรรค์ 6.เยาวชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาพื้นที่ และร่วมกันแสดงความคิดเห็นในการออกแบบสังคม 7.ไม่ควรให้เจ้าหน้าที่พกพาอาวุธเวลาลงในชุมชนหรือทำกิจกรรมกับเด็ก 8.ควรมีผู้นำที่มีแนวคิดใหม่ๆ ในการพัฒนาพื้นที่อย่างเหมาะสม
“สภาประชาสังคมชายแดนใต้มีแผนงานชัดเรื่องสันติภาพที่กินได้ใน 3 ปี เดินสายทำความเข้าใจทั้ง 5 ภาค เพราะสันติภาพเป็นเรื่องของทุกคน เป็นวาระของประชาชนทั่วประเทศ รวมทั้งแผนการพูดคุยกับผู้เห็นต่างในมาเลเซีย และคนเห็นต่างในชายแดนใต้โดยมีคนกลาง ซึ่งฝ่ายเห็นต่างก็มองว่าชาวพุทธเป็นพลเมืองที่นี่
นโยบายรัฐบาลในภาพใหม่ไม่ได้ระบุปัญหาชายแดนใต้ที่มีมาถึง 20 ปี เราเตรียมการนำเสนอข้อเสนอที่ผ่านการมีส่วนร่วมของพี่น้องประชาชน จะทำให้เร็วที่สุดผ่านช่องทางสื่อ ประธานกรรมาธิการสันติภาพชายแดนใต้ และบุคคลที่สามารถเข้าถึงพรรคเพื่อไทย
เรายังคงให้เวลากับรัฐบาลในการแก้ปัญหา และขอแสดงความยินดีที่มีนายกรัฐมนตรีหญิง เราจะร่วมมือทำงานกับผู้นำ พร้อมมีกลุ่มสิทธิพลเมืองและประชาธิปไตย ติดตาม ตรวจสอบทุกขั้นตอนของรัฐบาลชุดนี้ เราไม่เป็นพลังเงียบ ต้องสื่อสารออกไปมีทิศทางชัดเจนเพราะเป็นปัญหาของชาติ”ประธานสภาประชาสังคมชายแดนใต้กล่าว
คณะฯ แถลงการณ์ได้มีการมอบนกกระดาษเพื่อสันติภาพสีฟ้าแก่นายกรัฐมนตรีคนใหม่ด้วย