วันที่ 4 ตุลาคม 2567 ที่ ห้องประชุมสายน้ำคำ สำนักงานศูนย์ ccf จังหวัดเชียงราย สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต นำโดยนายสมเกียรติ เขื่อนเชียงสา นายกสมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต ร่วมกับเครือข่ายสภาประชาชนลุ่มน้ำอิง โดยมีตัวแทนชุมชนเข้าร่วมประมาณ 50 คน ได้จัดประชุมสรุปความเสียหายน้ำท่วมในลุ่มน้ำอิง น้ำกกและพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำโขง วาระประชาชนในการฟื้นฟูลุ่มน้ำและวิถีชีวิตหลังภัยพิบัติน้ำท่วมใหญ่พื้นที่โขงเหนือ ลุ่มน้ำ อิง กก โขง เชียงราย-พะเยา โดยสภาประชาชนเป็นการรวมตัวกันของชุมชนที่ทำการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ มีแนวทางการทำงานด้านการจัดการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมในลุ่มน้ำอิง
โดยหลังจากน้ำท่วมตั้งแต่เดือนสิงหาคมถึงเดือนกันยายน 2567 ได้สร้างความเสียหายต่อชุมชนในพื้นที่ลุ่มน้ำอิง กก โขง จากการสำรวจเบื้องต้นในพื้นที่สมาชิกเครือข่ายของสภาประชาชนลุ่มน้ำอิงโดยสมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต ใน 37 หมู่บ้าน 11 ตำบล 5 อำเภอ ของจังหวัดหวัดเชียงรายและจังหวัดพะเยา ผู้ได้รับผลกระทบ จำนวน 1,356 ครอบครัว พื้นที่การเกษตรเสียหาย 11,164 ไร่ 1 งาน 63 ตารางวา
นาย เตชภัฒน์ มะโนวงค์ ผู้ใหญ่บ้านสันต้นผึ้ง อ.ภูกามยาว จ.พะเยา ตัวแทนชุมชนลุ่มน้ำอิงตอนบน กล่าวว่า ปีนี้สภาพอากาศแปรปรวนมาก ช่วงต้นปีจนถึงเดือนกรกฎาคมเรายังเจอภาวะภัยแล้งอยู่ พอเดือนสิงหาคมมวลน้ำมาพรึบเดียวจนเกิดน้ำล้นทุกพื้นที่ ตอนนี้ความเสียหายพื้นที่การเกษตรไม่ต่ำกว่าแสนไร่ ความเสียหายหลายร้อยล้านบาทที่ชาวนาได้เสียไปในครั้งนี้จึงเป็นที่มาในการประชุมปรึกษาหารือกันของภาคประชาชนเรา การรวมตัวในนามสภาประชาชนเป็นกลไกหนึ่งในการรวมตัวเสนอปัญหาผลกระทบและแนวทางความช่วยเหลือร่วมกันในอนาคต น้ำมาเร็วมาก ไม่มีการเตือนภัยที่ทันกับเหตุการณ์เลย ไม่มีระบบเตือนภัย และชุมชนไม่เคยเจอสถานการณ์น้ำท่วมหนักแบบนี้มาก่อน
สำหรับ สถานการณ์น้ำท่วมต้นน้ำอิงตอนบนจังหวัดพะเยา ระดับสูงสุดวันที่ 17 สิงหาคม แม่น้ำสาขาต่างๆเกินความจุไหลล้นอ่างเก็บน้ำ กว๊านพะเยาที่สามารถรับน้ำได้ 55 ล้านลูกบาทเมตร แต่ปริมาณน้ำปีนี้อยู่ที่ 80 ล้านลูกบาตรเมตรจึงทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมใหญ่ และพื้นที่น้ำอิงตอนล่างในพื้นที่อำเภอดอกคำใต้ลงมาถึงอำเภอเชียงคำ มีน้ำแม่ลาว น้ำพุง น้ำร่องช้าง ร่องปอ มีมวลน้ำทะลักท่วมพื้นที่เกษตรกรรมสมทบ ทำให้พื้นที่ราบสองฝั่งแม่น้ำอิงมีน้ำแช่ขังพื้นที่เกษตร นาน 20 กว่าวันทำให้นาข้าวเสียหายทั้งหมด ส่วนพื้นที่ตอนปลายมีผลกระทบจากการหนุนของแม่น้ำโขงทำให้น้ำไหลช้าเอ่อท่วมที่นานานร่วมกว่า 1 เดือน
นายสอน เทพสมบัติ ผู้ใหญ่บ้านป่าข่า ต.ป่าตาล อ.ขุนตาล จ.เชียงราย กล่าวว่า บ้านผมน้ำท่วมมานาน 1 เดือนกับ 3 วันแล้ว ปัญหาน้ำท่วมเกิดจากถนน R3A ตัดเชื่อมแม่น้ำอิงไม่มีทางระบายน้ำ กลายเป็นเขื่อนกั้นแม่น้ำ น้ำไหลได้เฉพาะช่องทางใต้สะพานแม่น้ำอิง ในอดีตไม่มีการสร้างถนนน้ำหลากจะไหลผ่านทุ่งนาไปได้อย่างรวดเร็ว ปัจจุบันน้ำถูกกักไว้ท่วมนานมาก วันนี้น้ำก็ยังท่วมอยู่ พื้นที่เกษตรเสียหาย พันกว่าไร่ ทุกปีมันท่วม 5-6 วันน้ำก็ลด ตอนนี้ที่นาเหลือแต่เวิ้งน้ำหมดเลย ชุมชนเคยท้วงติงเรื่องแก้ปัญหาทางไหลของน้ำแต่ไม่สำเร็จ ข้อเสนออยากให้เพิ่มช่องทางระบายน้ำของถนนครับ กับเมล็ดพันธุ์ข้าวตอนนี้เรามีความหวังมีข้าวกินคือการทำนารอบนาปรังที่จะถึงนี้ จึงอยากได้รับการสนับสนุนพันธุ์ข้าว
ในส่วนพื้นที่น้ำกกได้รับความเสียหายหนักในพื้นที่อำเภอเมืองจังหวัดเชียงราย น้ำท่วมบ้านเรือนเสียหายตลอดสองฝั่งแม่น้ำกก และพื้นที่ตำบลริมกก ได้รับผลกระทบจากการระบายน้ำฝายเชียงราย พนังป้องกันน้ำพังทำให้มวลน้ำทะลักในพื้นที่ตำบลริมกก ส่วนพื้นที่ลุ่มน้ำกกตอนปลายน้ำน้ำหลากเข้าท่วมพื้นที่การเกษตรประกอบกับแม่น้ำโขงยกระดับสูงขึ้นทำให้น้ำกกไหลช้าลงและน้ำเอ่อท่วมริมฝั่งแม่น้ำโขง
นายสมเกียรติ เขื่อนเชียงสา นายกสมาคแม่น้ำเพื่อชีวิต กล่าวว่า ทางสมาคมได้ร่วมกับเครือข่ายชาวบ้านได้ทำการสำรวจความเสียหายพื้นที่การเกษตร ขณะนี้สำรวจได้ 37 ชุมชน และมีแนวทางการสำรวจให้ครบ 50 ชุมชนในลุ่มน้ำอิง กก โขง เพื่อพัฒนาเป็นโมเดลการช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรจากมหาภัยพิบัติน้ำท่วมในครั้งนี้ เพื่อส่งต่อให้รัฐบาล ผ่านกระทรวงเกษตร ผลักดันให้ภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบทั้งลุ่มน้ำโขงเหนือทั้ง 3 แสนไร่ และเบื้องต้นทางชุมชนเสนอให้ตั้งกองทุนเมล็ดพันธุ์ข้าว เพื่อใช้ปลูกในรอบต่อไปทั้งนาปรังและนาปี ซึ่งนาข้าวส่วนใหญ่ร้อยละ70- 80 เปอเซ็นได้รับความเสียหายทั้งหมดต้องรอรอบผลิตในครั้งต่อไปถึงจะมีข้าวกิน
ด้าน ดร.สืบสกุล กิจนุกร นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง กล่าวว่า น้ำท่วมเชียงรายหลายพื้นที่เริ่มฟื้นฟูชุมชนเช่นอำเภอเมือง บางพื้นที่พึ่งเริ่มต้นฟื้นฟูเช่นที่อำเภอแม่สายถือว่าเป็นงานที่หนักที่กำลังทำกันอยู่ แต่ส่วนที่มีการพูดถึงกันน้อยคือพื้นที่เกษตรกรรมในลุ่มน้ำอิง ที่ได้รับผลกระทบน้ำท่วมตั้งแต่ปลายเดือนสิงหาคมมาจนถึงวันนี้ สิ่งที่เราพบคือนาข้าวล่ม ไม่มีข้าวกินและข้าวขายเป็นปัญหาใหญ่ว่าเราจะฟื้นฟูกันอย่างไร สิ่งที่เกษตรกรต้องการและได้พูดคุยกันคือต้องการพันธุ์ข้าวที่จะมาทำนาปรัง หน่วยงานภาครัฐต้องเร่งจัดหาพันธุ์ข้าวที่เหมาะสมกับพื้นที่ จัดหาให้พี่น้องประชาชนอย่างเร่งด่วน ในส่วนของการเยียวยาจากการพบปะกับพี่น้องประชาชนพบว่า จำนวนเยียวยาต่อไร่ค่อนข้างต่ำกว่าความเป็นจริง ควรมีการปรับแก้ระเบียบวงเงินในการช่วยเหลือเพื่อให้ชาวบ้านสามารถฟื้นฟูได้อย่างแท้จริง
โดยข้อเสนอที่ประชุมคือ
- ทบทวนการบริหารจัดการน้ำกว๊านพะเยาให้ทันสถานการณ์มีส่วนร่วมกับชุมชนในการตัดสินใจรวมถึงการจัดการบริหารฝายกั้นน้ำในแม่น้ำอิง และฝายเชียงราย เพื่อลดผลกระทบต่อชุมชน
- ทำผังภาพรวมการระบายน้ำโดยเฉพาะถนนตัดผ่านแม่น้ำ ทั้งแม่น้ำกก และแม่อิง กลายเป็นเขื่อนกั้นน้ำทำให้น้ำไหลช้า เสนอให้มีการจัดทำแผนผังช่องทางน้ำไหลผ่านถนนทั้งลุ่มน้ำทั้งหมด ร่วมกับชุมชน เช่นการเปลี่ยนท่อกลมขนาดเล็กเป็นท่อเหลี่ยมขนาดใหญ่เพื่อเพิ่มการระบายน้ำป้องการน้ำแช่ขัง เพิ่มช่องทางการระบายน้ำลอดใต้ถนนตามจุดทางน้ำต่างๆ
- กองทุนเมล็ดพันธุ์ข้าวเมล็ดพันธุ์พืชอาหาร ช่วยเหลือชุมชนลดต้นทุนการทำนาที่เสียหายไป ความเสียหายเฉลี่ยไร่ละ 3,500บาท รอบนาปรังคือความหวังการมีข้าวบริโภคมีความจำเป็นขอสนับสนุนเมล็ดพันธุ์ข้าวรอบนาปรังต้องการพันธุ์ข้าว 1)สันป่าตอง1 2)แม่โจ้ ส่วนพันธุ์ข้าวนาปีต้องการพันธุ์ข้าว 1)กข6 2)กข14 3)พิษณุโลก 5)มะลิ105 และ6)น่าน59 ซึ่งเป็นพันธุ์ข้าวที่เกษตรกรใช้ในการปลูกในพื้นที่ลุ่มน้ำโขงเหนือ
- ธนาคารข้าวเพื่อใช้บริโภคช่วง 6 เดือนระหว่างรอผลผลิตนาปรัง
- พัฒนาโมเดลการฟื้นฟูพื้นที่เกษตรกรรมโขงเหนือโดยการประสานงานชุมชนเก็บข้อมูลความเสียหายพื้นที่การเกษตรให้ครอบคลุ่มลุ่มน้ำกกตอนปลาย แม่น้ำอิง และพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำโขง 60 ชุมชน นำเสนอเป็นโมเดลแนวทางการแก้ไขในภาพรวมในลุ่มน้ำโขงเหนือ พะเยา-เชียงราย เพื่อผลักดันให้มีการช่วยเหลือทุกชุมชนผ่านสภาเกษตรกร ส่งต่อให้กระทรวงเกษตร ผ่านไปยังรัฐบาลให้แก้ปัญหาภาพรวมเกษตรกรภาพรวมที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม
- ทำผังจุดเสี่ยงในระดับชุมชนทำแผนป้องกันภัยพิบัติ การตั้งรับปรับตัวในระดับชุมชน
- ฟื้นฟูระบบนิเวศลุ่มน้ำป่าชุ่มน้ำ ป่าต้นน้ำ เขตอนุรักษ์พันธุ์ปลาโดยชุมชนในการรักษาสมดุลธรรมชาติ เพื่อรองรับน้ำหลาก