เลขาธิการ ป.ป.ส. เปิดอบรมความรู้เกี่ยวกับสารตั้งต้นและเคมีภัณฑ์ที่ใช้ในการผลิตยาเสพติด เพื่อสกัดกั้นยาเสพติดตามแนวชายแดน

เมื่อเวลา 14.30 น.วันที่ 24 ต.ค.2567  ที่ โรงแรมเจริญธานี ขอนแก่น พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ หลักบุญ เลขาธิการ ป.ป.ส. เป็นประธานในพิธีเปิดการฝึกอบรมความรู้เกี่ยวกับสารตั้งต้นและเคมีภัณฑ์ที่ใช้ในการผลิตยาเสพติด โดยมี พล.ต. กิตติพงษ์ พุทธิมณี เลขาธิการ กอ.รมน.ภาค 2, นายศิริสุข ยืนหาญ รองเลขาธิการ ป.ป.ส. ,นายโชติพันธ์ จุลเพชร นักสืบสวนสอบสวนเชี่ยวชาญ สำนักปราบปรามยาเสพติด และนายคณิศร ภาพีรนนท์ นักวิเคราะห์นโยบายและแผนเชี่ยวชาญ สำนักงาน ปปส.ภาค 4 นำเจ้าหน้าที่ที่มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการสกัดกั้นและปราบปรามยาเสพติดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 40 นาย

พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ หลักบุญ เลขาธิการ ป.ป.ส. กล่าวว่า  สถานการณ์ปัญหายาเสพติดในภูมิภาค โดยเฉพาะการผลิตในพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำ ปัจจุบันยังอยู่ในระดับที่น่ากังวล เพราะศักยภาพการผลิตยาเสพติดยังคงสูงอย่างต่อเนื่อง กลุ่มผู้ผลิตยังสามารถจัดหาสารตั้งต้นและเคมีภัณฑ์ที่ใช้ในกระบวนการผลิตยาเสพติดได้ และมีการนำสารเคมีชนิดใหม่ๆ มาใช้ในกระบวนการผลิตยาเสพติดมากขึ้น

“พบการเคลื่อนไหว ในการใช้ประเทศไทยเป็นพื้นที่ทางผ่านเพื่อลำเลียงสารตั้งต้นและเคมีภัณฑ์เข้าไปยังแหล่งผลิตในพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำ โดยเฉพาะยาเสพติดประเภทสารสังเคราะห์ (เมทแอมเฟตามีน) ที่มีปริมาณการยึดเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว จากห้วง 10 ปีก่อนหน้า และขยายตัวอย่างต่อเนื่องจนแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยในปี พ.ศ.2564 และในปี พ.ศ.2565 มีการจับยึดได้ใน 3 ประเทศ ลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง ได้แก่ สปป.ลาว เมียนมา และไทย สูงถึง 3 ใน 4 ของภูมิภาค บ่งชี้ถึงการเป็นฐานผลิตและเส้นทางลำเลียงสำคัญของภูมิภาค”

 

เลขาธิการ ป.ป.ส. กล่าวต่ออีกว่า พบว่ามีการเปลี่ยนเส้นทางการลักลอบขนส่งผ่านทาง สปป.ลาว มากขึ้น ทำให้พื้นที่ชายแดนภาคเหนือตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยเป็นพี่นที่ที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ โดยพบว่ากลุ่มผู้ผลิตยังมีการปรับรูปแบบในการลำเลียงสารตั้งต้นยาเสพติดในลักษณะกองทัพมด สำนักงาน ป.ป.ส.จึงได้มีการจัดทำ MOU กับบริษัทไปรษณีย์ไทย และบริษัทขนส่งเอกชน เพื่อเป็นแนวร่วมในการป้องกันการลักลอบขนส่งสารตั้งต้นและเคมีภัณฑ์ทั้งการนำเข้าและออกนอกประเทศ อย่างไรก็ตาม หน่วยบัญชาการสกัดกั้นและปราบปรามยาเสพติดสารตั้งต้นและเคมีภัณฑ์ชายแดนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือ นบ.ยส.24 ที่รับผิดชอบพื้นที่ชายแดนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 7 จังหวัด 25 อำเภอ มีภารกิจดำเนินการประสานการสกัดกั้นการลักลอบลำเลียงยาเสพติดไม่ให้นำผ่านชายแดน เข้าไปยังพื้นที่ตอนในของประเทศ รวมถึงไม่ให้ใช้ประเทศไทยเป็นทางผ่านในการลักลอบลำเลียงสารตั้งต้นและเคมีภัณฑ์ไปยังแหล่งผลิต ซึ่งเป็นกำลังหลักในการปฏิบัติหน้าที่ จึงต้องได้รับการเสริมความรู้และความเชี่ยวชาญ เพื่อให้รู้เท่าทันผู้ที่คิดจะกระทำความผิด และสามารถจับกุมผู้ที่ลักลอบผลิตยาเสพติดได้อย่างมีประสิทธิภาพและให้ถูกต้องตามหลักกฎหมายต่อไป