มฟล. จัดบรรยาย สิทธิมนุษยชนกับการพัฒนาในสหัสวรรษใหม่ หวังพึ่งการศึกษาที่เท่าเทียม

 

ในโอกาสครบรอบ 1 ปี การก่อตั้ง “สำนักวิชานวัตกรรมสังคม” มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) ได้จัดการบรรยายในหัวข้อ Human Rights and Sustainable Development in the Globalised Era” สิทธิมนุษยชนกับการพัฒนาอย่างยั่งยืนในยุคโลกาภิวัตน์ โดย ศาสตราจารย์ ดร.มาริ คาตะยานะงิ (Prof. Dr. Mari Katayanagi) จากมหาวิทยาลัยฮิโรชิมา ประเทศญี่ปุ่น โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนแห่งสหัสวรรษใหม่และเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนในยุคของโลกไร้พรมแดน จากกรณีที่มีการพูดถึงสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวางในช่วงที่ผ่านมา โดยมีคณาจารย์ พนักงาน และนักศึกษาไทยและนานาชาติให้ความสนใจเข้าร่วมรับฟัง เมื่อเร็วๆ นี้ ณ ศูนย์บรรณสารและสื่อการศึกษา มฟล.

รศ.ดร.ศิริพร วัชชวัลคุ คณบดีสำนักวิชานวัตกรรมสังคม มฟล. กล่าวว่า การจัดตั้งสำนักวิชานี้สร้างความสนใจในหมู่นักวิชาการและแวดวงนักพัฒนาสังคมทั้งในหน่วยงานภาครัฐและองค์กรเอกชนเป็นอย่างมาก ต่างตั้งข้อสังเกตว่าการผลิตบุคลากรเพื่อสร้างสังคมใหม่นั้นจะเป็นไปในทิศทางใด

“แนวคิดและที่มาของการจัดตั้งสำนักวิชานวัตกรรมสังคม มฟล.  เรามุ่งหวังให้นักศึกษาเป็นผู้ที่มีจิตสำนึกต่อสังคมและต้องการสร้างการเปลี่ยนแปลงเพื่อประโยชน์ของสังคมรุ่นต่อไป และเมื่อกล่าวถึงนวัตกรรมสังคม นั่นหมายถึงการสร้างสิ่งใหม่และสังคมใหม่ สังคมนี้เป็นสังคมที่เราร่วมกันออกแบบและเป็นอย่างที่เราฝันอยากเห็นร่วมกัน เราต้องการนวัตกรรมสังคมเพราะเราต้องการร่วมสร้างสังคมโดยไม่ต้องรอให้ใครเป็นผู้สร้างสังคมให้เรา” รศ.ดร.ศิริพร กล่าว

ประเด็นหนึ่งที่เกี่ยวเนื่องกับนวัตกรรมสังคม ที่มีการแสดงความคิดเห็นในหลายแง่มุมบนโซเชียลมีเดีย นั่นก็คือสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นประเด็นหลักในการบรรยายของ ศาสตราจารย์ ดร.มาริ คาตะยานะงิ ซึ่งได้เกริ่นถึงความรู้พื้นฐานด้านสิทธิมนุษยชนว่า มีพัฒนาการทางทฤษฎีแบ่งออกเป็น 3 ช่วง คือ ช่วงแรกว่าด้วยแนวคิดด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิการมีส่วนร่วมทางการเมือง ช่วงที่สองว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม ช่วงที่สามว่าด้วยสิทธิร่วมกันทั้งทางด้านสันติภาพ สิ่งแวดล้อม และการพัฒนา

“สิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน ลึกซึ้งและซับซ้อน สิทธิมนุษยชนมีมิติที่เป็นสากล สิทธิทุกด้านล้วนสัมพันธ์กัน ไม่สามารถแยกขาดออกไปเป็นด้านใดด้านหนึ่ง แต่ควรตั้งอยู่บนหลักการร่วมกัน พึ่งพาอาศัยและเชื่อมโยงกัน ฉะนั้นความสัมพันธ์ระหว่างหลักการสิทธิมนุษยชนและการพัฒนาในปัจจุบัน ถูกพูดถึงในแง่การพัฒนาที่ยั่งยืน และแนวคิดสำคัญคือด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งครอบคลุมในหลายด้าน อาทิ ดัชนีชี้วัดทางเศรษฐกิจ อายุขัยเฉลี่ย และการศึกษา เป็นต้น แนวคิดนี้ได้รับการสนับสนุนจากองค์การสหประชาชาติและองค์กรภาคีเครือข่าย ภายใต้การผนวกหลักการสิทธิมนุษยชนเป็นกระแสหลักของการพัฒนา ถูกนำมาใช้เป็นแก่นแกนของเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ” ศ.ดร.มาริ กล่าว

นักวิชาการชาวญี่ปุ่นยังได้ให้ความเห็นอีกว่า ในปัจจุบัน แนวคิดด้านสิทธิมนุษยชนมีการแพร่หลายมากขึ้น โดยเฉพาะกฎหมายสิทธิมนุษยชนสากล โดยมีประเด็นที่น่าสนใจคือการปฏิบัติการด้านฐานสิทธิมนุษยชน มีการระบุความรับผิดชอบที่ชัดเจนว่าผู้ที่มีหน้าที่ในการพัฒนาคือ “รัฐชาติ” จะต้องไม่มีการเลือกปฏิบัติเพียงบางส่วน และให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชนทุกด้านเท่าเทียมกัน ต้องไม่มีการแบ่งแยก กีดกัน ปิดกั้น และการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมในโครงการพัฒนาต่างๆ และสนับสนุนการเคลื่อนไหวของภาคประชาสังคมในกระบวนการพัฒนา ต้องเคารพหน้าที่เคารพสิทธิมนุษยชนของประชาชน ต้องปกป้องและรับรองว่าประชาชนทุกคนมีสิทธิมนุษยชนเท่าเทียมกัน

“การพัฒนาเป็นหน้าที่ มิใช่กิจกรรมการสงเคราะห์ ดังนั้น หากเรานำปฏิบัติการด้วยฐานสิทธิมนุษยชนมาวิเคราะห์ปัญหาความยากจน จะเห็นได้ว่าปัญหาความยากจนสัมพันธ์กับสิทธิมนุษยชนหลายข้อ ไม่ว่าจะเป็น สิทธิในการทำงาน สิทธิในที่อยู่อาศัย สิทธิด้านอาหาร สิทธิด้านสุขภาพ สิทธิด้านการศึกษา และสิทธิในการมีส่วนร่วมทางการเมือง ซึ่งแนวทางการพัฒนาในสหัสวรรษที่ผ่านมา ถูกครอบงำด้วยกระบวนการที่ไม่โปร่งใส และมีจุดมุ่งหมายที่ไม่ชัดเจน ขณะนี้จึงเป็นช่วงที่องค์กรระหว่างประเทศระดมความคิดเพื่อร่างเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยเป้าหมายสำคัญอย่างหนึ่งในสหัสวรรษใหม่ก็คือ การกระกันการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม ในระดับประถมและมัธยมศึกษา โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ซึ่งสอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิมนุษยชน”

ศาสตราจารย์ ดร.มาริ มองไปในอนาคตอันใกล้ว่า แนวคิดแห่งการพัฒนาของโลกยุคใหม่ ต้องเกิดจากการตัดสินใจร่วมกันของชุมชนระหว่างประเทศ นำโดยสหประชาชาติ โดยคำถามหลักที่จะต้องติดตามร่วมกันคือ เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนนั้น สามารถผนวกรวมกรอบความคิดของแนวปฏิบัติด้วยฐานสิทธิมนุษยชน และแนวปฏิบัติด้านการพัฒนาได้หรือไม่ ซึ่งความหวังแห่งสหัสวรรษยังต้องใช้เวลาพิสูจน์ ผ่านปฏิบัติการและการลงมือดำเนินงานจริง ซึ่งระบบการศึกษาที่เท่าเทียมเป็นความหวังของสังคมโลกยุคใหม่