“ต้นโกงกางเป็นพื้นที่เซฟโซนให้ปลาอาศัย ซั้งมีอายุนานขึ้น คนในชุมชนมีชีวิตชีวา มีงานเสริมเพิ่มรายได้ คือความหมายของบ้านปลามีชีวิต”
คือ บ้านปลามีชีวิต ในความหมายของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เตือนตา ร่าหมาน คณะวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมดิจิทัล มหาวิทยาลัยทักษิณ ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัย การจัดการเครือข่ายเชิงพื้นที่ด้วยการสร้างนวัตกรรมการเรียนรู้บนฐานภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อสร้างต้นแบบการพัฒนาชุมชนปลาสามน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ภายใต้การสนับสนุนโดย หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่(บพท.)
สำหรับ “บ้านปลามีชีวิต (Aquatic Life Shelter)” เป็นนวัตกรรม จากผลงานวิจัยสิ่งประดิษฐ์ และนวัตกรรมที่บพท.คัดเลือกจากรางวัลชนะเลิศชุมชนนัวตกรรมเข้าร่วมประกวดและจัดแสดง ในงาน “2024 Kaohsiung International Invention and Design EXPO” (KIDE 2024) โดยได้รับรางวัล SILVER MEDAL ณ เมืองเกาสง ไต้หวัน ระหว่างวันที่ 6 -7 ธ.ค. 2567
เมื่อ ผศ.ดร.เตือนตา ใช้โจทย์ชุมชนเป็นตัวตั้งในงานวิจัย คิดค้นนวัตกรรมให้กับชุมชนด้วยเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมที่เหมาะสมกับบริบทของพื้นที่ “ชุมชน” จึงเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนา “บ้านปลามีชีวิต” นวัตกรรมที่พัฒนาขึ้นจากภูมิปัญญาชาวบ้านผนวกกับองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ทำได้ง่ายแต่ได้ผลชัดเจนจากความสำเร็จของนวัตกรรมและกระบวนการวิจัยเชิงพื้นที่โดยเริ่มมาตั้งแต่ปี 2563 ศึกษาความหลากหลายของปลา ปี 2564 ขอทุนชุมชนนวัตกรรม ในเวลา 1 ปี มีจำนวนปลาเพิ่มขึ้น ชนิดของปลาเพิ่มจาก 2 เป็น 11 ชนิด มีพื้นที่ แหล่งอาหาร และการผสมพันธุ์ที่ปลอดภัย ซึ่งเป็นไปตามหลักนิเวศ
“เลือกชุมชนบ้านใหม่เพราะชาวบ้านตั้งใจและอยากทำให้ปลาเพิ่มขึ้น ชุมชนภูมิใจกับบ้านปลามีชีวิตที่ไปได้ไกลกว่าที่คิดไว้ ต่อยอดมาจากบ้านปลาหมายเลข 9 เรามีทีมงานที่เสียสละมาก ไม่มีค่าตอบแทน ทำด้วยหัวใจจริงๆ ที่ต้องการอนุรักษ์ปลาไว้ให้อยู่คู่ชุมชน เห็นการเปลี่ยนแปลงของชุมชน คนพัฒนามากขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากชุมชนนวัตกรรมด้วยที่พยายามให้นักวิจัยไปพัฒนาคนให้แก้ปัญหาตัวเองได้ กลุ่มคนมีพลังมากขึ้น ทรัพยากรเพิ่ม ชุมชนรอบข้างมาร่วมเป็นเครือข่ายด้วย จากกลุ่มเล็กๆ กลายเป็นกระทะใบใหญ่ มีแนวทางในการเติบโต และทำแพปลาเพิ่มเติม
โชคดีมากที่ได้ทำงานเชิงพื้นที่แบบนี้ ได้ความรู้จากพื้นที่เยอะมาก ชาวบ้านสอนให้ดูปลา เรียนรู้ชีวิตมากขึ้น ใจเย็น รอเป็น เห็นใจ รู้จักการประนีประนอม ชุมชนเป็นเซฟโซนสำหรับตัวเอง การมาลงพื้นที่คือความสุขในช่วงชีวิตหนึ่ง เดินไปเห็นชุมชนมีรอยยิ้ม รู้สึกตัวเองมีคุณค่า ได้ใช้ความรู้ให้เป็นประโยชน์ และเป็นโอกาสดีมากที่สุดในชีวิตการทำงานที่ได้ร่วมงานกับ บพท. ได้เรียนรู้ พัฒนาทักษะหลากหลายด้าน ทุกความพยายามที่ได้ร่วมแรงร่วมใจกันก่อให้เกิดงานวิจัยที่มีคุณค่า และได้รับการสนับสนุน จนก้าวไปสู่ระดับนานาชาติ เป็นแรงผลักดันในการพัฒนางานเชิงพื้นที่ต่อไป”
ความร่วมมือร่วมใจของชุมชนบ้านปลาหมายเลขเก้า ชุมชนบ้านใหม่ หมู่ 1 ต.สทิงหม้อ อ.สิงหนคร จ.สงขลา และนักวิจัย เกิดความสำเร็จในการค้นหาแนวทางในการแก้ปัญหาของชุมชน พร้อมแรงเสริมจาก บพท. ทำให้ความทุ่มเทของงานก้าวไปสู่ความสำเร็จที่สามารถก้าวไปสู่เวทีระดับนานาชาติ
“ทุนวิจัยของบพท.ช่วยให้ชุมชนสามารถพัฒนาตนเองได้ การพัฒนาคนเป็นสิ่งสำคัญ เมื่อรู้จักวิธีการเรียนรู้ สามารถคิดต่อยอดได้โดยไม่ต้องรอ ชุมชนแก้ปัญหา พัฒนา เปลี่ยนแปลงในส่วนของพื้นที่และได้ประโยชน์ต่อชุมชนจริงๆ ซึ่งหัวใจสำคัญของการทำงานกับชุมชนสำหรับนักวิจัย ให้มองชุมชนเป็นสิ่งสำคัญ เอาชุมชนเป็นที่ตั้ง นักวิจัยได้วิชาการ ไม่ฉาบฉวย เมื่อเราทำ ชุมชนต้องได้ประโยชน์ ซึ่งนวัตกรชุมชนสามารถเป็นวิทยากรได้ ให้ความรู้ วางแผนการอนุรักษ์ กติกาชุมชน งานวิจัยสร้างนวัตกร”
“ทะเลสาบสงขลาเป็นนิเวศเฉพาะตัวที่ไม่เหมือนใคร อยากให้พื้นที่มีกิจกรรมที่เป็นเอกลักษณ์ให้ชัดเจนมากขึ้น ชุมชนสามารถทำได้และร่วมมือกับท้องถิ่น นำความรู้จากนวัตกรรมไปสู่เมืองแห่งการเรียนรู้(Learning City)”
อุไรพรรณ หอมชื่น นวัตกรชุมชนบ้านใหม่ บ้านปลามีชีวิต บอกด้วยน้ำเสียงจริงจังถึงความต้องการที่ตั้งใจจริงเพื่อประโยชน์ของพี่น้องรอบทะเลสาบสงขลว่า
“อยากผลักดันให้เป็นนโยบายสาธารณะ ให้จังหวัดประกาศว่าพื้นที่นี้เป็นเขตอนุรักษ์ที่กฎหมายสามารถจับกุมผู้กระทำผิดได้ ปรับได้ มีหน่วยงานรับไปต่อ โดยเริ่มต้นที่นี่เพื่อเป็นโมเดลไปทั่วทะเลสาบ และมีศูนย์เรียนรู้ โรงเพาะฟักที่มีมาตรฐาน เราพร้อมวิ่ง”
ซึ่งนวัตกรรมนี้ใช้สำหรับการงานด้านการอนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศแหล่งน้ำ มีลักษณะเป็นคอกสี่เหลี่ยมเหมือนซั้งกอ ปลูกต้นโกงกางที่มุมทั้งสี่และตรงกลาง 1 ต้นไว้ในท่อซีเมนต์ ใส่ดินเลนไว้ด้านใน เมื่อต้นโกงกางโตขึ้นจะเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำ มีอายุการใช้งานที่นานกว่าบ้านปลาแบบเดิม และลดการซ่อมแซม ลดค่าใช้จ่าย ช่วยให้ปลาเพิ่มจำนวนและชนิดมากขึ้น เป็นแหล่งเรียนรู้งานและแหล่งท่องเที่ยวในชุมชน
นอกจากนี้ ชุมชนบ้านใหม่ยังได้รับรางวัล อาทิ รางวัลชุมชนประมงดีเด่นระดับประเทศ จากกรมประมง รางวัลชุมชนนวัตกรรมยอดเยี่ยม และนวัตกรรม/เทคโนโลยีที่เหมาะสม จากงานประกวดและนิทรรศการ ชุมชนนวัตกรรมเพื่อการเรียนรู้ บพท. ครั้งที่ 2/2567
“เป็นรางวัลที่ชาวบ้านร่วมกันทำจริง จากบ้านปลาหมายเลขเก้าที่รู้จักกันดี มาสู่บ้านปลามีชีวิต มีเครือข่ายภาคี หน่วยงานเข้ามาร่วมกิจกรรมมากมาย เราเปิดรับทุกกลุ่ม ทุกคนเข้ามาเพื่อร่วมหาทางอนุรักษ์และเพิ่มพันธุ์ปลา เพิ่มรายได้โดยระบบนิเวศที่ดียังคงอยู่” นวัตกรชุมชนคนเก่งบอกกล่าวถึงความร่วมมือร่วมใจของชาวบ้านและทุกภาคส่วน
“นวัตกรชุมชน” คือ คนท้องถิ่นที่เป็นผู้สร้างนวัตกรรมสำหรับแก้ปัญหาให้กับชุมชนตนเอง ทำความเข้าใจปัญหาของชุมชน จำเป็นต้องมีทักษะแบบนักมนุษยวิทยา (Anthropologist) ซึ่งต้องเข้าพื้นที่ไปเป็นส่วนหนึ่งในชุมชนของกลุ่มเป้าหมายทั้งก่อน และหลังสร้างสรรค์นวัตกรรมที่ส่งเสริมให้เกิดการพึ่งตนเองอย่างมีสุขและภาวะระดับบุคคลและครอบครัวอย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดี
ทั้งนี้ ชุมชนบ้านใหม่ มีกติกาชุมชนร่วมกันคือ 1.ห้ามทำการประมงในเขตอนุรักษ์ ฝ่าฝืนปรับ 5,500 บาท ถ้าฝ่าฝืนครั้งที่ 2 ปรับ 10,000 บาท 2.คณะกรรมการกลุ่มฯ ไม่มีสิทธิ์ในการทำประมงในเขตอนุรักษ์ หากฝ่าฝืนปรับ 20,000 บาท (ยกเว้น ในกรณี ทำการเก็บตัวอย่างเพื่องานวิจัยการประเมินผลการทำเขตอนุรักษ์และการทำบ้านปลา) 3.ห้ามเรือมาก่อกวนหรือลวงในเขตอนุรักษ์ ฝ่าฝืนปรับไม่เกิน 5,000 บาท 4.กรณีประมาททำให้บ้านปลาหรือซั้งได้รับความเสียหาย จะต้องซ่อมให้เรียบร้อยภายใน 3 วัน ถ้าไม่ทำการซ่อมแซมภายในกำหนด ปรับ 2,000 /วัน 5.กรณีจงใจทำให้บ้านปลาหรือซั้งได้รับความเสียหาย ปรับ 10,000 บาท 6.กรณี มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ทางกลุ่มจะประชาสัมพันธ์ให้ทราบก่อนถือปฏิบัติ
อุไรพรรณ บอกถึงการออกแบบชุมชนที่เธอหวังในอนาคตอันใกล้
“ในพื้นที่มีปลา มีปัญหาใหญ่รอบทะเลสาบคือ ตอนกลางคืนจะมีเด็กติดยาเสพติดเข้ามาตกปลาในเขตนี้ ซึ่งตามกฎหมายเขาไม่ผิด แต่เขามาทำในเขตอนุรักษ์ อยากผลักดันให้เป็นนโยบายสาธารณะ ให้จังหวัดประกาศว่าพื้นที่นี้เป็นเขตอนุรักษ์ที่กฎหมายสามารถจับกุมผู้กระทำผิดได้ ปรับได้ มีหน่วยงานรับไปต่อ โดยเริ่มต้นที่นี่เพื่อเป็นโมเดลไปทั่วทะเลสาบ และมีศูนย์เรียนรู้ โรงเพาะฟักที่มีมาตรฐาน มีการแปรรูปผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ เราพร้อมวิ่ง”