เมื่อวันนี้ (20 เมษายน 2568) นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา เป็นประธานพิธีเปิดมหกรรมแข่งขันประชันเสียงนกปรอดหัวโขนนานาชาติ และจำหน่ายสินค้าระดับจังหวัดใน 5 จังหวัด โดยมี พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พันตำรวจโท วรรณพงษ์ คชรักษ์ เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมด้วย รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช หัวหน้าส่วนราชการ ผู้เข้าแข่งขัน ตลอดจนประชาชนทั้งในและนอกพื้นที่ตลอดจนต่างประเทศ เข้าร่วมเป็นจำนวนมาก ณ เวทีกลางศูนย์เยาวชนเทศบาลนครยะลา
พันตำรวจโท วรรณพงษ์ คชรักษ์ เลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวว่า นกปรอดหัวโขน หรือ นกกรงหัวจุก เป็นสัตว์เลี้ยงที่ประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ นิยมเลี้ยงเป็นจำนวนมาก จากการศึกษาวิจัยของคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ พบว่า มูลค่าทางเศรษฐศาสตร์ตลอดห่วงโซ่ของธุรกิจการ เลี้ยงนก ตั้งแต่ต้นน้ำ ได้แก่ อาชีพและอุปกรณ์เลี้ยงนก ทั้งการทำกรงนก ผ้าคลุม อาหารนก และแรงงานในการเลี้ยงนก กลางน้ำ ได้แก่ การเพาะเลี้ยง และฟาร์มนก ปลายน้ำ เป็นการจัดการแข่งขัน สามารถสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ ให้ประชาชน กว่า 300 ล้านบาทต่อปี
ตามที่รัฐบาลได้ประกาศนโยบายการส่งเสริม Soft Power ขึ้นเมื่อปี 2566 สำหรับในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ คณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัด ชายแดนภาคใต้ (กพต.) ได้มีมติเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2566 เห็นชอบให้ขับเคลื่อน นโยบาย Soft Power ผ่านสัตว์เลี้ยงเศรษฐกิจในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ “นกปรอดหัวโขน” เพื่อให้เกิดวงจรการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างเศรษฐกิจ และคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน บนพื้นฐานการทำงานที่ไม่ทำให้นกปรอดหัวโขนตามธรรมชาติมีจำนวนลดลง โดยให้ ศอ.บต. ร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดย กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช และกระทรวงวัฒนธรรม ดำเนินการทำงาน ร่วมกับนักวิชาการด้านชีววิทยา และกลุ่มเลี้ยงนกและเพาะพันธุ์นกในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ อย่างใกล้ชิด
หลังจากมติ กพต. ได้มีการดำเนินส่งเสริมอาชีพที่เกี่ยวเนื่องกับวงจรการเลี้ยงนก ทั้งการทำ กรงนก ผ้าคลุม อาหารนก และฝึกอบรมทักษะการเพาะเลี้ยงนก สามารถจัดตั้งกลุ่มอาชีพและพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องและได้นำครัวเรือนยากจนเข้ามาทำงานให้มีรายได้เพิ่มขึ้นกว่า 100 ครัวเรือน นอกจากนี้ยังมีการสนับสนุนและอนุรักษ์ การปล่อยนกคืนสู่ป่ามากกว่า 1,000 ตัวต่อปี
สำหรับการจัด “มหกรรมแข่งขันประชันเสียงนกปรอดหัวโขนนานาชาติ” จัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 19 – 20 เมษายน 2568 เป็นกิจกรรมปลายน้ำ มีการแข่งขันนก 5 ประเภท โดยมีนกจากประเทศไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย และสิงคโปร์ เข้าร่วมกว่า3,000 ตัว พร้อมกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ การอนุรักษ์ นิทรรศการวงจรการเลี้ยงนก และการจำหน่ายสินค้าในชุมชน ซึ่งจะก่อให้เกิด เม็ดเงินหมุนเวียนในพื้นที่ไม่น้อยกว่า 10 ล้านบาท
ด้าน นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา กล่าวว่า การจัดการแข่งขันครั้งนี้ได้รับความสนใจจากพี่น้องประชาชนทั้งในและนอกพื้นที่รวมไปถึงประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งการจัดงานนี้เป็นการขับเคลื่อนงานภายใต้นโยบายของรัฐบาลที่ต้องการขับเคลื่อน soft power ในพื้นที่ เพื่อสร้าง อาชีพ สร้างรายได้ให้กับพี่น้องประชาชนจากการเลี้ยงนกปรอดหัวโขน รวมไปถึงพี่น้องประชาชนในพื้นที่ ที่ได้นำอาหารมาจัดจำหน่ายภายในงานด้วย ซึ่งรัฐบาลเองจะต้องหาแนวทางในการแก้ไขกฎหมายเพื่อที่จะส่งเสริมให้กลุ่มผู้เลี้ยงสามารถเลี้ยงนกได้อย่างไม่ผิดกฎหมาย และได้มีการพัฒนาขยายสายพันธุ์เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการสูญพันธุ์ “ผมรู้สึกดีใจมากที่ประเทศไทยของเราเป็นประเทศแรกที่ได้ผสมพันธุ์นกปรอดหัวโขน ด้วยฝีมือของคนในพื้นที่เองสามารถมีการกำหนดลวดลายสีต่างๆได้ด้วย ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายที่คนทั่วไปจะทำกันได้ เป็นความสามารถพิเศษของคนไทย รวมไปถึงกรงนกที่เป็นงานฝีมือ เป็นงานศิลปะมีความรักความชอบในการเลี้ยงนก สามารถสร้างรายได้จำนวนมหาศาล ดังนั้นอยากให้พี่น้องประชาชนได้รับรู้ว่า รัฐบาลพร้อมที่จะส่งเสริมและสนับสนุน soft power ผ่านสัตว์เศรษฐกิจที่มีอยู่ในพื้นที่
นอกจากนี้ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา พร้อมด้วย พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้เยี่ยมชมบูธนิทรรศการโครงการขับเคลื่อนยกระดับ นกปรอดหัวโขนเป็นสัตว์เศรษฐกิจและการขับเคลื่อนนโยบายของ ศอ.บต. ด้วย