มฟล.จัดเสวนาดึงภาครัฐ-เอกชนถกเข้มข้น กฎหมายท่องเที่ยว รับ AEC

สำนักวิชานิติศาสตร์ มฟล.จัดเสวนาดึงภาครัฐ-เอกชนถกเข้มข้น กฎหมายท่องเที่ยว รับเปิดประชาคมอาเซียน
สมาคมมัคคุเทศก์ไม่เห็นด้วย รัฐจะผลิตมัคคุเทศก์ต่ำกว่าป.ตรีเพิ่ม ระบุปัญหาไม่ใช่จำนวนแต่เป็นเรื่องความมั่นคง
มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) โดยสำนักวิชานิติศาสตร์ จัดการเสวนา ‘กฎหมายท่องเที่ยวไทยกับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน:ธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดเชียงราย ปัญหาและอุปสรรค’ เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ห้องประชุมวนาสวรรค์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง โดยเชิญผู้เกี่ยวข้อง อาทิ ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว นายวิม นเรนทรเสนี เจ้าของกิจกรรม Janpha Cottages Long stay, นายทรงธรรม ไทยกรรณ์ เจ้าของกิจการ บจก. สบายเชียงรายทรานส์แอนด์ทราเวล, สุชาครีย์ทราเวล และสุชารีย์ ทรานสปอร์ต และยังได้เชิญนายกสมาคมมัคคุเทศก์เชียงราย น.ส.ณัฐพัชมณ ศรีพิทักษ์สกล รวมถึง นายปรัชญ์ อาศิรพงษ์พร นิติกรสำนักงานทะเบียนธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ สาขาภาคเหนือเขต 2 จังหวัดชียงราย ร่วมเสวนา สำหรับผู้เข้าร่วมกิจกรรมจำนวนหนึ่งเป็นนักศึกษาจากสำนักวิชานิติศาสตร์ โดยเนื้อหาการเสวนาเริ่มต้นที่ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการเปิดเออีซี ที่มีแนวโน้มจะทำให้ผู้คนที่เดินทางเข้าออกเพื่อกิจกรรมหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นการค้าการลงทุนหรือการศึกษา และโดยเฉพาะเพื่อการท่องเที่ยวในจังหวัดเชียงรายนั้นมีปริมาณมากขึ้น ในขณะที่โครงสร้างพื้นฐานหรือการจัดการต่างๆ รวมถึงบุคลากรที่ยังไม่พร้อม
“ถ้าจะถามว่าเปิดเออีซีแล้วเราพร้อมไหม ณ วันนี้ที่ยังไม่เปิดเสรีเราก็ไม่พร้อมอยู่แล้ว ไม่ว่าจะโครงสร้างพื้นฐานหรือสาธารณูปโภคต่างๆ ที่ยังไม่ได้พูดถึงว่าจะมีกฎหมายควบคุมหรือระเบียบปฏิบัติร่วมกันอย่างไร ซึ่งรวมถึงเรื่อง ผังเมือง การจัดการน้ำ ขยะ ปัญหาหมอกควัน โรงพยาบาล และอื่นๆ นอกจากนี้ยังมีเรื่องเงินทุนที่เป็นปัญหาเนื่องจากสถานการณ์บ้านเมืองที่มีผลกระทบต่อตัวเลขนักท่องเที่ยว เมื่อต้องขยับขยายเพื่อรองรับการเปิดเออีซีก็มีความลำบาก ทั้งในส่วนของที่พักและรถเดินทาง รวมไปถึงบุคลากรอย่างมัคคุเทศก์ที่ขาดแคลน ทั้งยังรู้สึกขาดความมั่นคงจากความเป็นไปได้ที่จะมีแรงงานที่สามารถใช้ภาษาอังกฤษหรือภาษาอื่นสำหรับการท่องเที่ยวได้ดีจากประเทศเพื่อนบ้านอาจจะสามารถเข้ามาทำงานในไทยได้รวมไปถึงการขยายตัวของที่พักและธุรกิจการท่องเที่ยวในฟากประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นไปได้ว่าจะสามารถรองรับนักท่องเที่ยวปริมาณมากได้” เสียงจากผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวและกลุ่มบุคลากรทางการท่องเที่ยว
ทั้งนี้ในส่วนของภาครัฐได้ให้ข้อมูลในวงเสวนาถึงการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการเปิดเออีซีไว้ว่ามีแนวโน้มที่นักท่องเที่ยวจะมีปริมาณเพิ่มขึ้น โดยปัจจุบันมีตัวเลขมัคคุเทศก์ที่ขึ้นทะเบียนไว้จำนวนหลายหมื่นในขณะที่ปฏิบัติจริงมีจำนวนเพียงหลักพัน ซึ่งเดิมภาครัฐอนุญาตให้ผู้ขึ้นทะเบียนจะจบต้องจบการศึกษาระดับปริญญาตรีในสาขาที่เกี่ยวข้องหรือผ่านหลักสูตรการอบรมจากสถาบันการศึกษาที่ทำความตกลงไว้เท่านั้น ซึ่งสถานการณ์ปัจจุบันคือมีความขาดแคลนมัคคุเทศก์ จึงมีแนวคิดที่จะอนุญาตให้ผู้จบการศึกษาระดับอนุปริญญาตรีเข้าสู่อาชีพมัคคุเทศก์ได้ รวมถึงจะมีการเปิดหลักสูตรระดับประกาศนียบัตรชั้นสูงในสาขาที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว เพื่อเตรียมกำลังคนให้มีความพร้อมสำหรับการเปิดเสรี
ด้านผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวและมัคคุเทศก์ที่เข้าร่วมเสวนาต่างได้โต้แย้งแนวความคิดดังกล่าวว่าภาวะขาดแคลนมัคคุเทศก์ที่เกิดขึ้นว่า แม้ว่าจะมีมัคคุเทศก์จำนวนหลายหมื่นมาขึ้นทะเบียน แต่ไม่สามารถปฏิบัติงานจริงได้ เพราะไม่สามารถดำรงชีพด้วยอาชีพมัคคุเทศก์ได้จริง เนื่องเป็นอาชีพที่ไม่มีเงินเดือนประจำ ไม่มีหลักประกันความมั่นคงใดๆ ทั้งรายได้ที่ไม่แน่นอนขึ้นกับปริมาณนักท่องเที่ยว ซึ่งในขณะที่ประเทศไทยมีรายได้สำคัญจากการท่องเที่ยวแต่บุคลากรในภาคธุรกิจนั้นกลับอยู่ในสถานการณ์ที่ลำบาก ทำงานท่ามกลางการกดดันจากทั้งเจ้าหน้าที่รัฐและบริษัททัวร์ ได้รับการปฏิบัติจากภาครัฐอย่างเข้มงวด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการตรวจสอบใบอนุญาตหรือระเบียบบังคับปฏิบัติมากมาย
“กฎหมายที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวปัจจุบัน มีแต่การบังคับให้ปฏิบัติตาม ทำผิดก็ถูกจับถูกปรับไป แต่ไม่มีข้อไหนที่เป็นกฎหมายคุ้มครอง ทั้งเรื่องหลักประกันความมั่นคงหรือการพัฒนาในเส้นทางอาชีพสาย มัคคุเทศก์ นอกจากนี้ยังต้องการมีส่วนร่วมในการออกกฎมายหรือการวางแนวระเบียบปฏิบัติเกี่ยวกับการธุรกิจการท่องเที่ยวหรือบุคลากรที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์และปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งน่าจะเป็นทางออกหรือเป็นคำตอบที่จะทำให้ธุรกิจในภาคนี้รับมือกับความเปลี่ยนแปลงต่างๆได้เป็นอย่างดี” เสียงสะท้อนจากผู้ประกอบอาชีพมัคคุเทศก์ ในวงเสวนา‘กฎหมายท่องเที่ยวไทยกับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน:ธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดเชียงราย ปัญหาและอุปสรรค