ผู้ว่าฯ เชียงรายเผยยังไม่มีการตกลงระเบิดหินนำโขงในไทย

วันที่ 2 ก.พ.60 ที่หอประชุม อ.เมืองเชียงราย จ.เชียงราย นายบุญส่ง เตชะมณีสถิตย์ ผู้ว่าราชการ จ.เชียงราย นายสุรนาท ศิริโชค รักษาการ ผอ.สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขา จ.เชียงราย ได้ร่วมกันแถลงข่าวเรื่องโครงการปรับปรุงร่องแม่น้ำโขงหรือระเบิดเกาะแก่งในแม่น้ำโขงเพื่อการเดินเรือพาณิชย์ในแม่น้ำโขงตั้งแต่มณฑลยูนนาน จีนตอนใต้ จนถึงแขวงหลวงพระบาง สปป.ลาว ระยะทางประมาณ 800 กิโลเมตร หลังจากก่อนหน้านี้ประเทศจีนได้ดำเนินการตั้งแต่จีนตอนใต้จนถึงสามเหลี่ยมทองคำ อ.เชียงแสน จ.เชียงเชียงราย จนมีการสำรวจระยะที่ 2 โดยมีเป้าหมายตั้งแต่ จ.เชียงราย – แขวงหลวพระบางระยะทางประมาณ 374 กิโลเมตร ทำให้องค์กรเอกชนและภาคประชาชนชาว อ.เชียงของ ออกมาต่อต้านโครงการอย่างต่อเนื่องเพราะเกรงว่าจะกระทบกับสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะเกาะแก่ง กระแสน้ำไหลแรง โดยรัฐบาลมีมติคณะรัฐมนตรี (ค.ร.ม.) วันที่ 27 ธ.ค.เห็นชอบเรื่องการศึกษาและสำรวจแม่น้ำโขงในเขตที่ติดกับประเทศไทย ทำให้เกิดมีการรวมตัวต่อต้านในวันที่ 5 ก.พ.60 โดยมีการจัดกิจกรรม บริเวณผาถ่าน ต.เวียง อ.เชียงของ จ.เชียงราย
นายบุญส่ง เตชะมณีสถิตย์ กล่าวว่า ได้รับแจ้งจากปลัดกระทรวงมหาดไทยเมื่อคืนที่ผ่านมาว่ารัฐบาลไม่ได้มีข้อตกลงใดๆ เกี่ยวกับการกระเบิดเกาะแก่งในแม่น้ำโขงในพื้นที่ จ.เชียงราย จึงถือโอกาสแจ้งให้ข้าราชการ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) รวมถึงภาคประชาชน และสื่อมวลชนให้ได้รับทราบเพื่อไม่ให้เกิดข้อมูลที่คลาดเคลื่อน โดยเฉพาะภาคประชาชนที่หากจะมีการเคลื่อนไหวใดๆ ขอให้ใช้สติอย่างถี่ถ้วนด้วย และขอให้ทุกฝ่ายได้มั่นใจด้วยว่าการตัดสินใจใดๆ ของรัฐบาลจะขึ้นอยู่กับผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นหลัก
นายสุรนาท ศิริโชค รักษาการ ผอ.สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขา จ.เชียงราย กล่าวว่ากรณีมติ ครม.ดังกล่าวนั้นเป็นเพียงเรื่องอนุญาตให้มีการสำรวจเฉพาะพื้นที่แม่น้ำโขงที่ติดกับประเทศไทยตั้งแต่สามเหลี่ยมทองคำ อ.เชียงแสน ไปจนถึง อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย ซึ่งเป็นจุดสิ้นสุดเขตแดนไทยทางแม่น้ำโขงทางภาคเหนือเท่านั้นโดยยังไม่มีการเปิดให้มีการระเบิดเกาะแก่งแห่งใดในแม่น้ำโขงแต่อย่างใด เพราะตามข้อตกลง 4 ชาติลุ่มแม่น้ำโขงคือไทย เมียนมา สปป.ลาว และจีน นั้นมี Development plan หรือแผนการพัฒนาเพื่อการปรับปรุงร่องแม่น้ำโขงที่กำหนดเอาไว้ว่าเมื่อมีการศึกษาและสำรวจแล้วจะนำผลเข้าสู่การหารือกันอีกครั้ง กรณีของประเทศไทยก็จะนำผลจากการศึกษาและสำรวจดังกล่าวกลับเข้าสูการพิจารณาของ ค.ร.ม.อีกครั้งด้วยเพราะจะต้องไม่มีผลกระทบต่อแนวเขตแดนไทย – สปป.ลาว ดังนั้นสรุปได้ว่าจนถึงปัจจุบันยังไม่มีการระเบิดเกาะแก่งใดๆ ที่ติดกับประเทศไทยแต่อย่างใด
“การจะระเบิดเกาะแก่งในอนาคตหรือไม่นั้นตอบไม่ได้เพราะยังไม่มีการศึกษาและสำรวจ เมื่อไม่มีก็ชี้ชัดลงไปไม่ได้แต่อาจสันนิฐานได้ 2 ด้านคืออาจจะไม่มีการระเบิดเกาะแก่งเลยโดยเมื่อสำรวจแล้วอาจเห็นควรให้มีการใช้เครื่องช่วยเหลืออื่นแทนการระเบิดเกาะแก่ง เช่น ทุ่น หลักนำ  หรืออาจจะมีการดำเนินการซึ่งก็ต้องมาดูที่ข้อสรุปผลการศึกษากันอีกครั้ง แต่เมื่อยังไม่มีการสำรวจทำให้ฝ่ายไทยได้เสนอขอเข้าร่วมสำรวจ
ด้วยโดยได้จัดเจ้าหน้าที่จาก 3 ฝ่ายเข้าร่วมคือหน่วยอุทกศาสตร์ทหารเรือ หน่วยเรือรักษาความสงบเรียบร้อยตามลำแม่น้ำโขง (นรข.) เขตเชียงราย และกรมเจ้าท่า เป็น 3 หน่วยงานหลัก”  รักษาการ ผอ.สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขา จ.เชียงราย กล่าว
สำหรับการประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อประสานการดำเนินการตามความตกลงว่าด้วยการเดินเรือพาณิชย์ในแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง ( The joint Committee on Coordination of Commercial Navigation on the Lancang–Mekong River among China,Laos Myanmar and Thailand หรือ JCCCN ) ซึ่งเป็นองค์กรที่ตั้งขึ้นตามข้อตกลงการเดินเรือพาณิชย์แม่น้ำโขงตอนบน 4 ชาติอันเป็นที่มาของโครงการปรับปรุงร่องแม่น้ำโขงดังกล่าว ได้มีการประชุมที่ประเทศพม่าเมื่อวันที่ 9-12 ม.ค.ที่ผ่านมา ฝ่ายไทยเสนอขอร่วมสำรวจกับเอกชนจีน โดยตั้งเป้าว่าจะสำรวจแม่น้ำโขงระหว่างเดือน ม.ค.-พ.ย.2560 ก่อนนำเสนอ ค.ร.ม.ต่อไป โดยในปี 2561 ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพการประชุม JCCCN ซึ่งฝ่ายไทยจะนำเรื่องนี้หารือในที่ประชุม 4 ชาติต่อไป