ชาวบ้านจะลอควรญหมาแมวถูกสังหารหมู่ทั้งหมู่บ้านปศุสัตว์ชี้เป็นประชามติ

จากกรณีกลุ่มมูลนิธิและองค์กรสวัสดิภาพสัตว์ในประเทศไทยกว่า 7 องค์กร  ร่วมลงชื่อถึงอธิบดีกรมปศุสัตว์เพื่อขอคำชี้แจงและร้องเรียนเกี่ยวกับการปฎิบัติหน้าที่โดยมิชอบของเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์จังหวัดเชียงราย กรณีการนำสัตว์เลี้ยงสุนัขและแมวของชาวบ้านจะลอ ม.10 ต.แม่ฟ้าหลวง อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย จำนวนกว่า 100 ตัวไปกำจัดเพื่อควบคุมการระบาดของโรคพิษสุนัขบ้า โดยระบุว่าเป้นการกระทำที่เกินกว่าเหตุและไม่เป็นธรรมตามกรอบวิธีการปฎิบัติตาม พรบ.โรคระบาดสัตว์และ พรบ.โรคพิษสุนัขบ้า
 จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงในหมู่บ้านจะลอ ซึ่งมีที่ตั้งอยู่อยุ่ใกล้แนวตะเข็บชายแดนไทย-เมียน มีประชากรเป็นชาวไทยภูเขาหลากหลายเผ่าอาศัยอยู่ พบว่าเหตุการณ์ดังกล่าวได้เกิดขึ้นจริง โดยพบว่าในหมู่บ้านไม่เหลือแมวแต่ตัวเดียวและเหลือสุนัขอยู่เพียง 4 ตัวคือที่บ้านเลขที่ 149 ของนายพงษ์ศักดิ์ วิเศษพิมลกุล อายุ 27 ปี จำนวน 2 ตัว และบ้านของเลขที่ 71/1 ของ น.ส.ธิดารัตน์ มาเยอะ อายุ 26 ปี อีก 2 ตัวเท่านั้น ซึ่งทั้งสองหลังกำลังอยู่ระหว่างทำการจัดทำกรงเหล็กไว้ขังสุนัขทั้ง 4 ตัวตามคำสั่งของสำนักงานปศุสัตว์อำเภอแม่ฟ้าหลวง
 
โดยนายพงษ์ศักดิ์ กล่าวว่าเหตุการณ์ดังกล่าวได้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 21 มกราคมที่ผ่านมา หลังจาก มีสุนัขของครู ภายในโรงเรียน ตชด.สังวาลย์วิท 8 ซึ่งอยู่ท้ายหมู่บ้านห่างไปกว่า 500 เมตรนำมาเลี้ยงติดเชื้อสุนัขบ้า แล้วได้กัดกับสุนัขในหมุ่บ้านทำให้ติดเชื้อจำนวน 7 ตัว ซึ่งชาวบ้านรู้หมดว่าเป็นสุนัขของใครบ้าง โดยทางปศุสัตว์ได้มาขอตัวสุนัขทั้ง 7 ตัวเพื่อนำไปกักและกำจัดเพื่อไม่ให้เกิดการแพร่ระบาด โดยชาวบ้านและเจ้าของก็ยินยอม จนในวันที่ 26 มกราคม ได้มีการเรียกตัวแทนชาวบ้านที่เลี้ยงสุนัข และแมวหลังละ 1 คนไปทำความเข้าใจ ก่อนจะให้ชาวบ้านลงประชามติว่าจะให้กำจัดสุนัขและแมวที่เหลือทั้งหมดที่มีอยู่กว่า 100 ตัวไหม โดยอ้างว่าก่อนหน้านี้ก็มีการแพร่ระบาดในพื้นที่หมู่บ้านแม่แสลบ ต.แม่ฟ้าหลวง ก็เคยเกิดการแพร่ระบาดและก็มีนำสัตว์เลี้ยงไปมอบให้กำจัดทั้งหมดแล้ว
แรกเริ่มชาวบ้านไม่ได้มีความยินยอมเพราะสงสารสัตว์เลี้ยงที่เลี้ยงมากับมือ โดยขอให้กักกันเพื่อดูอาการจำนวน 14 วัน หากไม่พบการติดเชื้อก็จะไม่ได้ต้องกำจัด แต่ทางเจ้าหน้าที่ใช้ระเบียบว่าจะต้องมีการกักพื้นที่สัตว์เลี้ยงเป็นระยะเวลา 6 เดือน โดยจะต้องจัดที่คุมขังด้วยกรงไม่ให้ออกนอกบริเวณบ้าน หากตรวจพบว่ามีการปล่อยสัตว์ออกมานอกกรงหรือนอกรั้วบ้าน หรือไปกัดคนหรือสัตว์อื่นจนเกิดการแพร่ระบาดของโรค ก็จะต้องรับผิดทางกฏหมายมีทั้งโทษจำคุกและโทษปรับเป็นเงินหลายหมื่นบาท ทำให้ชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่รู้ด้านกฎหมายและมีฐานะยากจน ไม่มีเงินสร้างกรงหรือรั้วกั้นบ้านและกลัวว่าจะต้องจ่ายเงินค่าปรับ ทำให้จำใจต้องลงมติในที่ประชุมให้กำจัดสัตว์เลี้ยงทั้งหมด จนในวันที่ 27 มกราคม ก็ให้ชาวบ้านนำสุนัขและแมวไปมอบให้ทางเจ้าหน้าที่
โดยในวันมารับสุนัขและแมวมีเจ้าหน้าที่หลายฝ่ายเข้ามาเอา โดยเปิดจุดรับที่ศาลาประจำหมู่บ้านและบริเวณศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านจะลอ ซึ่งทำแบบเป็นความลับโดยไม่ให้ชาวบ้านเข้าไปดูหรือเป็นการบันทึกภาพใดๆ ตนและเพื่อนบ้านอีกหลายคนเห็นว่าเป็นการทำเกินกว่าเหตุจึงไม่ยอม ก็ถูกข่มขู่จนต้องทะเลาะกันจนเพื่อนบ้านหลายคนต้องยอม เหลือเพียงตนและเพื่อนอีกคนเท่านั้นที่ไม่ยอมให้ โดยยืนยันว่าจะกักสัตว์ไว้เองและยินดีรับผิดชอบทุกอย่างต่อสัตว์เลี้ยงของตนและทำตามขั้นตอนของทางปศุสัตว์ทุกอย่าง ทางเจ้าหน้าที่ถึงยินยอม
 ด้านนายอลงกรณ์ วิบูลย์เดชขจร หนึ่งในชาวบ้านที่นำสัตว์เลี้ยงไปให้เจ้าหน้าที่กำจัด กล่าวว่าตนเลี้ยงแมวมา 1 ตัวตั้งแต่ตัวเล็กๆ เมื่อถูกให้นำไปมอบรู้สึกเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างมาก แต่ไม่รู้ทำอย่างไรจำใจต้องนำไปมอบทั้งน้ำตา เช่นเดียวกับเพื่อนบ้านอีกหลายคนที่ต้องร้องให้ขณะนำสัตวืไปมอบให้ เพราะต้องสูญเสียสัตว์เลี้ยงอันเป็นที่รัก ตอนนี้ไม่รู้สัตว์ที่ทางเจ้าหน้าที่เอาไปเป็นตายร้ายดีอย่างไร แต่ชาวบ้านเชื่อว่าอาจตายหมดแล้ว ซึ่งก็อยากให้ทางเจ้าหน้าที่ชี้แจงเรื่องที่เกิดขึ้นหากเป็นไปได้นำสัตว์เลี้ยงของพวกตนมาคืนหรือนำสัตว์อื่นมาทดแทนเพราะยังอยากจะเลี้ยงสัตว์กันอยู่
อย่างไรก็ตามทางผู้สื่อข่าวได้ติดต่อไปยังสำนักงานปศุสัตว์อำเภอแม่ฟ้าหลวง เจ้าของเรื่องได้รับการชี้แจงว่าเรื่องที่เกิดขึ้นไม่ได้เป็นความเจตนาของเจ้าหน้าที่ที่จะทำการกำจัดสัตว์เลี้ยงเหล่านั้น เพราะเจ้าหน้าที่คลุกคลีงานด้านปศุสัตว์ก็มีความรักสัตว์ แต่ด้วยระเบียบของการควบคุมโรคในฐานะการปฎิบัติหน้าที่ก็ต้องดำเนินการตามขั้นตอน ซึ่งก็ได้มีการขอประชามติจากชาวบ้านเรียบร้อยแล้ว โดยยืนยันไม่ได้มีการข่มขู่ แต่เป็นการชี้แจงระเบียบตามขั้นตอนและผลกระทบต่อกรณีการเกิดการแพร่ระบาดแก่ชาวบ้านให้เข้าใจ โดยต้องนำสัตว์มากำจัดและนำตัวอย่างไปตรวจหาเชื้อที่ศูนย์ จ.ลำปางเพื่อป้องกันไม่ให้ระบาดไปสู่คน ซึ่งเจ้าหน้าที่ทุกคนก็เสียใจกับการทำงานที่เกิดขึ้นเพราะต้องทำใจอย่างมากเช่นกัน แต่ไม่ยอมให้สัมภาษณ์และระบุว่าทางปสุสัตว์จังหวัดเชียงรายจะเป็นผู้ชี้แจงกรณีที่เกิดขึ้นกับทางกรมปศุสัตว์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกครั้งหนึ่ง